ความเกลียดชัง

entry นี้ค่อนข้าง aggressive หน่อยนะครับ เพราะรู้สึกอัดอั้นมานาน  ตอนแรกกะว่าเขียนเสร็จจะเก็บไว้ในไดอารี่ แต่เปลี่ยนใจคิดว่าอาจจะพอเป็นประโยชน์หรือเป็นหัวข้อให้มาถกเถียงกัน สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือว่า ความเกลียดชังนี่แหล่ะที่ทำให้บ้านเมืองล่มจม

คนเราทำไมถึงเกลียดนักการเมืองโกงได้ถึงขนาดนั้น
ถ้าพูดกันตามตรงแล้ว ชีวิตคนเราจะรู้สึกว่าโดนทำร้ายจากนักการเมืองพวกนี้ได้จริงๆ หรือ
ผมว่าไม่ได้กระทบขนาดที่ทำให้รู้สึกจริงๆ ได้หรอก
เพียงแต่ว่าชีวิตเค้าต้องการหาที่ลงซักที่ ที่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ของเค้า ไม่ใช่เพราะเค้าที่ทำตัวเอง
ความคิดน่าขันอย่างหนึ่งของผมก็คือ ผมว่าจิตใต้สำนึกของคนพวกนี้  ไม่อยากให้นักการเมืองที่เค้าด่าอยู่ทุกวันหายไปจริงๆ หรอก
ไม่อย่างงั้นก็ไม่มีคน ให้ด่า ให้รู้สึกว่าตัวเองนั้นประเสริฐกว่าคนชั่วในโลกนี้เหลือหลาย
ซึ่งนี่ทำให้คนพวกนี้ จะไม่พยายามคิดถึงระบบโครงสร้างใหม่ๆ ที่จะลดคนโกงออกไป
แต่พยายามจะนั่งด่าไปเรื่อยๆ ตามจิตใต้สำนึกที่เรียกร้องพร้อมกับสุขภาพจิตที่แย่ลง

คนบางคน ไม่มองนักการเมืองโกงเป็นเชื้อโรคร้ายที่น่าเกลียดชัง
แต่เข้าใจว่าคนทุกคนต่างมีจิตใจความคิด มีศักยภาพที่จะทำดีหรือไม่ดีได้เหมือนๆ กัน
แต่ภายใต้ภาวะเงื่อนไขที่ต่างกันที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ บางคนประพฤติปฏิบัติดี บางคนทำชั่ว
เมื่อเข้าใจเช่นนี้ คนเหล่านี้จึงมองเห็นว่า การสร้างภาวะเงื่อนไขต่างๆ ที่เอื้อต่อการประพฤติดี และขัดขว้างการทำไม่ดีต่างหากที่จำเป็น
การปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมต่างหาก ตัวบทกฎหมายต่างหาก ที่จะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาได้
หาใช่การขับไล่ตัวบุคคลที่ทำผิดและเกลียดชังคนเหล่านี้ให้มากไว้

อย่าหยุดจิตสำนึกเพื่อสังคมเอาไว้เพียงแค่ตัวบุคคลไม่กี่คน มองทะลุไปให้ถึงระบบโครงสร้างที่ตั้งอยู่สมดุลที่ไม่เป็นธรรม
อย่าปล่อยให้ความเกลียดชังบังตา

การโกงกินของคนไม่กี่คนอาจจะทำให้ประเทศของเราเสียหายมาก
แต่ความเกลียดชังที่ทำให้คนเป็นล้านๆ ไม่คิดไปถึงขั้นที่จะหาทางแก้ปัญหาบ้านเมือง นี้ต่างหากที่เสียหายที่สุด

ปล. เมื่อมองเห็นสิ่งที่ต้องพัฒนา ขั้นต่อไปคือเห็นวิธีการพัฒนารูปแบบใหม่
วิธีการตรงนี้จำเป็นต้องใช้ความรู้ความเข้าใจและความคิดสร้างสรรค์  เทคโนโลยีใดที่จะมาเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายให้กับปัญหาที่มีอยู่  นวัตกรรมทางการเงินใดที่จะช่วยแก้วังวนปัญหาปัจจุบัน
ผู้ที่มองเห็นวิธีการพัฒนาตรงนี้และไม่หยุดเพียงความเข้าใจ แต่เริ่มทำอะไรขึ้นมาจริงๆ
คนเหล่านั้นแหล่ะ คือผู้ประกอบการทางสังคม

ผู้จัดการ กับคำว่า สัตว์นรก

สุดจะทนจริงๆ ครับ
อีก 3 ชม. ผมต้องไปเดินทางสอบแล้ว แต่ภาพที่ผมเห็นนั้นมันทำให้ผมรู้สึกเดือดขึ้นมาจริงๆ จนไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่สมควรเข้าใจแล้วเก็บไว้

หัวข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ(วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม 2551) เขียนว่า “สัตว์นรกไล่ฆ่าพธม.ถึงUN”
พูดตามตรงเลยก็คือ ผมอยากจะเดินไปฟันคอคนพาดหัวข่าวเดี๋ยวนั้น
อะไรที่ทำให้ หนังสือพิมพ์หัวนี้ จึงไร้จรรยาบรรณได้ขนาดนี้
อะไรที่ทำให้คุณกล้าเขียนเปรียบคนกลายเป็น สัตว์นรก ออกข่าวหน้าหนึ่ง
จิตใจส่วนไหน ที่บอกให้คุณพยายามแล้วพยายามเล่าที่จะปลุกความเกลียดชังอย่างขนาดนี้

ยินดีด้วยที่คุณสำเร็จไปมากแล้ว

ผมรู้สึกแย่มาตั้งแต่ครั้งที่สนธิเริ่มออกมาพูดก่อนรัฐประหารแล้ว (แม้จะฟังบ่อยๆ) ว่า นี่มันเป็นการพยายามให้คนเกลียด มากกว่าให้ข้อมูลนะนี่
ที่จริงก่อนหน้านี้ หน้าข่าวเองก็มีการใช้คำอื่นๆ เพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์
เหมือนต้องการจะให้ไม่รู้สึกผิดเวลาไปทำร้ายกัน…
แต่ถึงยังไง ผมนึกไม่ถึงจริงๆ ว่าสนธิจะทำให้หนังสือพิมพ์ของตัวเองกลายเป็น…  ขนาดนี้

จะอ้างว่ารักชาติโคตรๆ ก็อ้างไปเถอะครับ
คุณไม่ได้รักคนในชาติหรอก

ถ้าไม่ได้คาดหวังที่จะเห็นความรักกันของคนในชาติ
คำพูดที่บอกว่ารักชาตินั้น…  มันก็แค่หน้ากากอย่างหนาที่ปิดบังความเกลียดชังเอาไว้

ปล. ผมไม่ได้ชอบทักษิณ และกำลังเซ็งเรื่องที่สมัครอนุมัติสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ กับการเมืองที่ “ไม่การเมือง”

บทความเรื่อง การเมืองที่”ไม่การเมือง” โดยอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สะท้อนมุมมองความคิดเห็นของฝ่ายขวา กลุ่มพันธมิตรและชนชั้นกลางจำนวนมากที่ว่า การเมืองที่ “ไม่การเมือง” นั้นคือทางออกที่จะนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยของสังคม

อ่านแล้วได้ความว่า การ “ไม่การเมือง” นั้นยังไงก็เป็นการเมืองอยู่ดี  แต่เป็นการเมืองที่พยายามจำกัดขอบเขตการตัดสินใจให้อยู่แค่คนจำนวนน้อย (ซึ่งอาจถูกคัดสรรมาแล้ว)

ผมรู้สึกสนใจว่าอะไรที่ปลูกฝังให้เราคิดว่าการ “ไม่การเมือง” น่าจะเป็นทางออก

อาจเพราะเราถูกเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจากระบอบกษัตริย์เป็นประชาธิปไตย ซึ่งด้วยปัจจัยต่างๆ ก็ทำให้การบริหารไม่ดี ก็เลยอยากหาทางออกอะไรซักอย่าง

แต่ทำไมเราจึงอยากหนีไปในทางที่จำกัดขอบเขตการตัดสินใจอยู่กับคนไม่กี่คน

ถ้าถามว่า ทำไมคนชั้นกลางจำนวนมากขนาดนี้ในปัจจุบันจึงคิดเช่นนี้ ผมก็คิดว่าเป็นเพราะวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ของเรานั้นเอง

วิธีการศึกษาที่ เน้นกล่าวถึงความสุดยอดของมหากษัตริย์แต่ละพระองค์และส่งเสริมความรักชาติรักแผ่นดิน  แต่ดูจะไม่วิพากษ์วิจารณ์ความสำเร็จในระบบแบบกษัตริย์

…แต่มีหลักฐานประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เองก็รู้ดี ว่ามีการแย่งชิงสถานะแห่งอำนาจในการกำหนดการใช้ทรัพยากรกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งในหมู่พวกเจ้านายด้วยกันเอง เจ้านายกับขุนนาง รวมทั้งในหมู่สามัญชนอื่นๆ ด้วย มีทั้งการประจบ, ใส่ไคล้, ยุ่งเกี่ยวไปถึงฝ่ายในของราชสำนัก, จนถึงการลอบสังหาร, ใบปลิว, หรือแม้การจับอาวุธขึ้นก่อการกบฏ แม้แต่การที่ ร.5 ทรงใช้พระปรีชาสามารถในการแย่งพระราชอำนาจที่สูญเสียไปแก่ตระกูลขุนนางบาง ตระกูลในรัชกาลก่อนๆ ก็เป็นที่รู้กันดี

เพราะ “การเมือง” ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการแสวงหาอำนาจเพื่อกำหนดการใช้ทรัพยากรนั่นเอง จะใช้อย่างไร จะให้ใครใช้ จะใช้เมื่อไร ฯลฯ จึงไม่มีสังคมอะไรในโลกนี้ที่ปราศจาก “การเมือง” อันเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งและต่อสู้กัน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น ผ่านการสร้างวัฒนธรรมขึ้นครอบงำ เป็นต้น

แม้กระนั้นความคิดว่า มีสังคมที่ขจัดการเมืองออกไปได้ก็ตาม การเมืองคือปัจจัยขัดขวางการบริหารที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพก็ตาม ยังเป็นความคิดกระแสหลักของฝ่ายขวาในเมืองไทยสืบมา ใช่แต่เท่านั้น ยังรวมไปถึงคนที่ไม่อาจจัดอยู่ในฝ่ายขวาได้ ก็เชื่อทำนองเดียวกัน…

ผมคิดว่าถ้าเราคนไทยได้ทราบข้อมูลดังที่อาจารย์นิธิได้เขียนไว้ในบทความข้างต้น เราหลายๆ คนจะมีมุมมองทางด้านการเมืองที่ต่างไปจากปัจจุบัน

ผมไม่มีคำตอบที่ชัดเจน(*)ว่า วิธีการคัดเลือกคนเข้ามาเป็นตัวแทนในกรรมการหรือสภาต่างๆ ของประเทศ  บริบทไหนที่ควรจะการเมืองหรือไม่การเมืองไหน — ขอบเขตการตัดสินใจควรกว้างจะแค่ไหน

แต่ผมเชื่อว่า เราทุกคนจะมีคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นได้ ถ้าเราเรียนรู้อดีต

ปล. ที่จริง, เกี่ยวกับประเด็น 70-30 ของพันธมิตร, ในรายการชูพิชญ์ตอนล่าสุดก็พูดไว้ได้สนใจมากๆ ครับ

(*) ผมไม่แน่ใจจริงๆ ว่าเรื่องการเมืองการปกครองระดับรัฐนั้นควรแค่ไหนที่ การตัดสินใจควรขึ้นกับทุกคน หลังจากได้ทราบข่าวเกี่ยวกับ ยีนการเมืองที่ว่ามียีนบางตัวที่กำหนดความสนใจทางการเมืองของคนๆ นั้นอยู่

มันทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเราให้เฉพาะคนที่มีความสนใจเรื่องการเมืองเป็นผู้ตัดสินใจก็อาจจะดี  คนที่ไม่สนใจเวลาติดสินใจก็คงได้คำตอบสั่วๆ มา ซึ่งกลับจะทำให้ข้อสรุปของส่วนรวมต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เชื่อมั่นว่าทุกคนเท่ากันกลับออกมาทำให้สาธารณะประโยชน์ต่ำลง

ถ้าปล่อยให้คนที่เค้าสนใจมาตัดสินใจ คนที่ไม่สนใจอาจจะสบายใจมากขึ้นด้วย?

ฉะนั้นนี่เป็นคำถามของผมอีกข้อหนึ่ง ระบอบประชาธิปไตยบนเงื่อนไขที่มีทุกคนถูกกำหนดมาว่าสนใจการเมืองไม่เท่ากันอยู่แล้ว นั้นมีประสิทธิภาพดีแค่ไหน

ไม่เบื่อการเมือง

ปีสองปีมานี้ผมมีความสนใจความเป็นไปทางการเมืองและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าก่อนมาก  สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม ผมไม่แน่ใจว่าเริ่มสนใจตั้งแต่เมื่อไหร่ คิดว่าคงเพราะอ่านอะไรๆ ของพี่ก้อง ทรงกลด  แต่ถ้าเป็นด้านการเมืองนี่ชัดเจนครับ คนจุดประกายให้ผมคือ คุณทักษิณ ชินวัตร

การปฏิวัติน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กหลาย ๆ คนมองเห็นการเมืองว่า มีตัวตนในโลกประจำวัน  แต่สิ่งที่ตรึงสายตาของผมไว้คือคำถามว่า “การปฏิวัติที่เกิดขึ้นนั้น มันเป็นสิ่งสมควรไหม”  ช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น รับรัฐธรรมนูญดีไหม ?  เลือกตั้งใครดี ?  พันธมิตรกำลังทำสิ่งที่น่าสนับสนุนหรือเปล่า ?  ระหว่างการรวบรวม วิเคราะห์ และแสดง ความคิดเห็นเพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ผมได้เห็นการปะทะกันของความคิดเห็น 

เวลาได้อ่านการใช้เหตุผลที่เนียน ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่เป็นจริงและแสดงถึงการรวบรวมข้อมูล  ผมรู้สึกว่ามันเท่จริงๆ หว่ะครับ  …ก็คงเพราะความประทับใจตรงนี้ พอบวกกับความอยากเป็นพลเมืองคุณภาพ ก็เลยเริ่มสนุกที่จะติดตามประเด็นปัญหาบ้านเมือง

แล้วบางครั้ง ก็จะมีการโต้กลับมาของความเห็น อย่างมีเหตุผลเหมือนกัน แล้วยิ่งพอมีสมมติฐานที่สอดคล้องความเป็นจริงกว่า ก็เลยเจ๋งขึ้นไปอีก

นี้คือสิ่งสำคัญมาก เวลาเราคิดหาทางออกของปัญหาอะไรก็ตาม  ถ้าจะแก้ปัญหาอะไร เราต้องหาทางออกจากบริบทของปัญหานั้น  ยิ่งรวบรวมข้อมูลมาดีเท่าไหร่ ก็แก้ได้ตรงจุดมากขึ้น หรือถ้าเราจะเอาวิธีการแก้ปัญหาจากบริบทอื่นๆ มาใช้แก้ปัญหาอะไร มันก็ต้องเป็นบริบทที่ใกล้เคียงกันครับ

เช่น เราจะเอาวิธีการแก้ปัญหาการเลือกผู้นำในบริษัทมายัดใส่การเลือกผู้นำประเทศ หรือ วิธีการแก้ปัญหาชองชมรมนึงจะเอามาแก้กับอีกชมรมนึง โดยไม่ดูว่าวัฒนธรรมมันต่างกันยังไง  ก็จะทำเสียเรื่องเปล่าๆ

นิตยสาร way, TV บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา,  แล้วก็คอลัมน์ที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เขียนในมติชนรายสัปดาห์ เป็นสื่อทางการเมืองที่ผมชอบเพราะอ่านง่าย วิเคราะห์อะไรๆ คมดีครับ ไม่เอียงทักษิณหรือพันธมิตร ไม่เป็นข่าวชาวบ้านๆ หรือเอาเรื่องของตัวคนมาด่าให้มันน่าเบื่อ  ที่จริงแล้วผมว่าบทความในประชาไทดีๆ มีเยอะแยะ แต่อ่านไม่ไหวครับ มันวิชาการการไป ก็เลยมาแนะนำ 3 อย่างนี้หล่ะครับ สำหรับคนอยากเริ่มสนใจการเมือง

ตอนนี้ บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา กำลังพูดถึงประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญอีกรอบเป็นเรื่องสมควรไหมซึ่งก็เชื่อมไปถึงเรื่องการยุบพรรค
มีประโยคหนึ่งของสัปดาห์นี้จาก อาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ที่ผมชอบมาก

“ปัญหาบ้านเมืองมันขมวดอยู่แค่ เอาทักษิณไม่เอาทักษิณ  ตั้งแต่เมื่อไหร่”
มันไม่ได้ขมวดแค่นั้นยังไง ก็ลองรับชมรับฟังกันดูนะครับ

ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ

มาอัพเรื่อง รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นวันนี้อาจจะสายไปด้วยซ้ำ (เผอิญช่วงนี้อ่าน มังกรคู่สู้สิบทิศ อย่างเมามัน)
แต่ก็ไม่เป็นไร ทำให้ได้ทบทวนความคิดตัวเอง และได้ลากเพื่อนๆ มาอ่าน 555
ความเห็นของผม หลังจากพยายามอ่านรวบรวมข้อมูลต่างๆ ในอินเตอร์ หนังสือพิมพ์ นิตยสารway และคุยๆ กับเพื่อน

ก็ขอลงความเห็นว่า “ไม่รับ” ครับ

เหตุผลที่ไม่รับ ของผมคือ

  1. อำนาจของสถาบันตุลาการ มายุ่งกับการเมือง
    หนึ่ง องค์กรอิสระ เพราะปัญหาที่ ทักษิณซื้อคนในองค์กรอิสระ รธน50นี้เลยให้ อำนาจในการคัดสรรคนในองค์กรอิสระ กลายมาเป็น ของสถาบันตุลาการครับ
    สอง สมาชิกวุฒิสภา จาก 150 คน ประมาณครึ่งหนึ่งเลือกตั้ง แต่อีกครึ่งแต่งตั้งโดย จากฝ่ายศาลและองค์กรอิสระ(ซึ่งก็คัดมาจากศาลอีก) แต่ว่า สว กลับมีอำนาจมากในการถอดถอน นายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากการเลือกตั้งได้ จะเห็นว่ากลไกนี้ มันทำให้ถ้าศาลเบื่อนายกแล้ว เลือกตั้ง สว เมื่อไหร่ ก็จบกันครับ
    …ทีนี้ ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าเกิดคนที่คัดมาทำผิดกฎหมาย มันย่อมมีผลต่อการตัดสินของศาล เพราะตัวศาลเองที่เป็นคนคัดเข้ามา
    ทำให้ตลอดมาตุลาการซึ่งอาจเป็นสถาบันเดียวที่เรียกว่าเป็นกลาง หมดความเป็นกลางลงไป ซึ่งปัญหาที่อาจบานปลายย่ำแย่
  2. อำนาจในองค์กรอิสระที่มีเพิ่มขึ้นมาก เรียกว่าใหญ่กว่านักการเมืองอีก แต่ขณะที่นักการเมืองต้องเปิดเผยทรัพย์สินทุกอย่าง แต่กลับไม่มีกฎให้ ตัวคนในองค์กรอิสระเองเปิดเผย องค์กรอิสระเองควรจะเปิดเผยมากกว่าอีกนะครับ
  3. มีมาตราบางข้อที่สื่อถึงการต่อท่ออำนาจอย่างชัดเจนครับ
    คือ คณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย (คนที่ กำหนดและร่างกฏหมาย และองค์กรปฏิรูปกฏหมาย) คณะกรรมการชุดนี้จะได้รับการแต่งตั้งโดย “คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งก็คือรัฐมนตรีปัจจุบันนี้เอง
    ซึ่งผมเองก็ไม่เข้าใจจริงๆ ครับว่าเขาพลาดไปหรือ มีเหตุผลอะไร ทำไมไม่รอให้หลังเลือกตั้ง
  4. ต่อไปคือระบบเลือกตั้ง ซึ่งมี ระบบเขต กับ บัญชีรายชื่อ เรื่องนี้ผม ไม่รู้สึกว่าแย่มากมาย แต่ก็คิดว่าของเดิมดีกว่านะครับ
    ระบบเขต จากเดิม 1 เขต 1 สส เปลี่ยนเป็นแบบ ระบบพวง(เค้าเรียก – -“) คือเขตละไม่เกิน 3 คน คำนวณจากสัดส่วนผู้มีสิทธิออกเสียงในเขตนั้นๆ และทำให้เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้นด้วย ผมอ่านดูแล้วไม่มีความเห็นเท่าไหร่
    ปัญหาคือ ระบบบัญชีรายชื่อ ที่เปลี่ยนเป็น ระบบ 8 บัญชี (ที่เลือกเป็นพรรค ไม่ได้เลือกคนอะครับ แล้วเอาเปอร์เซ็นต์ที่แต่ละพรรคได้รับเลือกมาที่นั่งของ สส 100 คน)
    เค้าอยากแก้ปัญหาที่ว่า ถ้าคะแนนไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์แล้วจะตัดทิ้งไปเลย โดยแบ่งเขตประเทศเป็นกลุ่มจังหวัด 8 กลุ่ม แล้วก็ไม่มีเรื่อง ตัดทิ้ง 5 เปอร์เซ็นต์
    คือผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องทำแปลกๆ แบบนี้นะครับ แต่ที่แน่ใจคือระบบนี้อาจมีปัญหา
    หนึ่ง ด้วยระบบนี้ พรรคการเมืองแต่ละพรรค จะได้เปรียบกว่ากัน คือมีปัญหา gerrymandering
    สอง ในเมื่อไม่มี ระบบที่เป็นเขตระดับประเทศแล้ว นโยบายประเทศย่อมลดน้ำหนักลงไป เพื่อเอาใจประชาชนในกลุ่มจังหวัดต่างๆอีก
    สาม ผมรู้สึกว่า เขต 8 เขต ที่เค้าแบ่ง มันไม่รู้ว่าใช้อะไรเป็นเกณฑ์ มีความหลากหลายมากครับ ถ้าจะคิดนโยบายสำหรับกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ก็ทำได้ยากอยู่ดี

ที่พูดมานั้นเป็นปัญหาด้าน “เนื้อหา” ของรัฐธรรมนูญนี้
ซึ่งเมื่อลองเปรียบเทียบกับข้อดี ที่มีอยู่เรื่อง สิทธิ เสรีภาพ ที่มากขึ้น และระบบการตรวจสอบที่ทำได้ง่ายขึ้นมาก
คิดดูแล้ว.. สำหรับผม ผมพบว่า โดยรวมข้อเสียมากกว่าข้อดีครับ

โดยไม่ต้องพูดถึง “ที่มา” ของรัฐธรรมนูญนี้ ที่เมื่อมันทำอยู่ใต้รถถัง
แม้เราจะเชื่อใจคณะร่างแค่ไหน(ผมคนหนึ่งที่คิดว่า คณะร่างอย่างไรก็คงบริสุทธิ์ใจอยู่มาก)
แต่ยังไงมันย่อมมีความเป็นไปได้อยู่แล้วครับ ที่ ที่มา มีผลต่อ เนื้อหา
ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่ไม่ชอบมาพากล ประธานคณะร่างนี้เอง (ตอนแรก มีมติว่า ประธานต้องมาจากสสร.ที่เลือกกัน แป๊บเดียวเปลี่ยนมติ แล้วก็กลายเป็นประสงค์)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจแน่ชัดในการเลือกที่จะไม่รับ นั้นคือ “กระบวนการยกร่าง” ครับ
ผมเชื่อว่า การร่าง รธน. ครั้งนี้ มีการวิจารณ์จากประชาชนเพื่อกำหนดบทบัญญัติน้อยมากครับ
(แม้ตัวคณะร่างจะบอกว่า ถามความเห็นประชาชนแล้ว แต่ผมก็เชื่อประชาไทยมากกว่าอยู่ดีครับ ..ถึงจะทำก็คงทำได้แค่เพียง พอผ่านๆ)
ซึ่งถ้าเขียนจากคนแค่กลุ่มหนึ่ง มันย่อมจะมองจากมุมเดียว
แม้จะพยายามแค่ไหนก็เถอะครับ

ผมคิดว่า การจะแก้ปัญหาต่างๆในบ้านเมืองเนี่ย
คนที่ประสบเจอปัญหาโดยตรงเท่านั้นแหล่ะ ที่จะรู้ชัดว่าควรแก้ยังไง
ซึ่งจะทำได้ต้องเอาความเห็นอย่างหลากหลาย
แบบนี้เนี่ย แม้จะตั้งกฎขึ้นมาเพื่อจะช่วยแก้ปัญหา แต่แท้จริงแล้วกลับไม่มีกลไกที่ทำให้กฎนั้นปฏิบัติได้จริง

ประเด็นสำคัญในความคิดผมก็คือว่า
ผมเชื่อ(อย่างมองโลกแง่ดีอยู่)ว่า ถ้ามติออกมาว่า ไม่รับ แล้วนั้น
หลังจากเลือกตั้ง.. (ซึ่งยังไงก็มีเลือกตั้ง ไม่เกี่ยวกับ ถ้ารับร่างแล้วจะทำให้เลือกตั้งได้ คนพูดแบบนั้นนี้ จงใจสร้างความสับสน)
รัฐบาลชุดต่อไป จะต้องจัดทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งแน่ๆ
ความคิดผมคือ ตอนนี้ทุกคนหวังรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าเดิมไปแล้วหน่ะครับ (ปัญหาคือที่ร่างใหม่มันแย่กว่าเดิม)
ขณะนี้ ทุกคนมองเห็นข้อดีของ 50 กันหมดแล้ว แต่ ฉบับ 50 ยังยอมรับไม่ได้
ผมเชื่อว่า เมื่อขึ้นรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง(โดยที่มติคือ ไม่รับ) มันต้องคงมีกระแสกดดันให้ร่างใหม่แบบที่รวมเอาข้อดีในฉบับ 50 นี้มาด้วย
และที่สำคัญคือ มีกระบวนการยกร่างที่มีการวิจารณ์อย่างทั่วถึงกว่านี้
และทุกอย่างก็คงจะดี..

เนี่ยแหล่ะครับ “เหตุผล”

ที่พูดแบบนี้ ไม่ใช่ว่า คนที่ รับไม่มีเหตุผลนะครับ
แต่ผมพูดถึง เรื่องที่ เชื่อมโยงว่า ถ้าไม่รับคือฝ่ายทักษิณ อะไรทำนองนี้
หรือ… แม้กระทั่ง…
การไปลงประชามติ โดยไม่ศึกษาข้อมูล มุมมองของทุกฝ่ายให้ทั่วถึงก่อน
การเอาอคติไปเลือกผมว่า เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า ไร้ความรับผิดชอบ ในฐานะคนไทยอยู่นะครับ
(แม้จะเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้เลย เพราะว่าก็ถือได้ว่า รัฐบาลให้เวลาในการศึกษากับประชาชนน้อยเหลือเกิน)

ถึงที่สุดแล้ว เขียนถึงตอนนี้ก็พอใจแล้ะครับ ผลจะออกมายังไง ก็ต้องยอมรับมัน
ผมคิดว่า เรื่องการเมืองนั้น เอาเข้าจริง สิ่งที่วัดผลสำเร็จ”ที่แท้จริง” ว่าก้าวหน้าหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่เราเห็น
ไม่ว่าจะ เรื่องตัวบทของรัฐธรรมนูญ เรื่องนโยบายต่างๆ หรือแม้แต่ ระดับการคอร์รัปชั่น
ผลลัพท์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ขึ้นกับตัวสภาพขณะนั้น ต้องแก้กลับไปกลับมา
เช่น พอเจอปัญหาทักษิณทิศทางของระบบก็ต้องแก้เรื่องนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องไปเกิดรูโหว่ ที่อื่นอีก แล้วก็ต้องแก้อีก กลับไปกลับมา
ซึ่งถ้ากลับไปกลับมา ปรากฏว่า ระบบดันกลายเป็นเหมือนเมื่อ 50 ปี ถามว่า นี้เราไม่ได้ก้าวหน้าขึ้นเลยหรือไม่
คำตอบของผมคือ ไม่ใช่ครับ
เพราะสิ่งที่ วัดกันจริงๆ กลับคือ ระดับความมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบ
ผมเชื่อว่า ยิ่งระบบใด มีส่วนร่วมของประชาชนมากเท่าใด ก็จะยิ่งปิดช่องโหว่ได้มากเท่านั้น (เรียกว่า แก้กลับไปกลับมา แต่ค่อยๆ ครอบคลุมมากขึ้นๆ)
เพราะอย่างที่เขียนไว้คือ เราจะสร้างกลไกที่แก้ปัญหาใดได้จริง ย่อมต้องสร้างจากผู้ที่ประสบปัญหานั้นๆ กับตัว
(ผมจึงคิดว่า ถ้าเราไม่รับร่าง มันจะเป็นโอกาสกันดีมาก ที่น่าจะเกิดรัฐธรรมนูญที่มีส่วนร่วมจากประชาชนมากๆ ไงครับ)

ฉะนั้น ขอให้ทุกคนที่มาอ่าน ไปใช้สิทธิกันนะครับ และไม่ใช้อคติด้วย

เท่านี้แหล่ะครับ ความเห็นผม
แล้วแต่ละคนคิดว่าไงกันบ้าง

ปล. เป็นครั้งที่สอง สำหรับประวัติศาสตร์ การลงประชามติของโลก ที่ตัดสินการรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”ทั้งฉบับ” (ครั้งแรกที่ประเทศพม่า)
ปล2. *เพิ่มทีหลัง หลังเลือกแล้ว* จากใน wiki เอาเข้าจริงประเด็นเรื่อง gerrymandering ผมอาจพลาด รู้เรื่องไม่ครบถ้วน คือ..มันก็มีข้อดีอยู่ด้วย ที่ว่าถ้าแบ่งเขตดีๆ จะทำให้สร้างฐานเสียงลำบาก คะแนนนิยมมาจากนโยบายระดับประเทศจริงๆ (ยังไม่ค่อยเข้าใจอะไรมากอะครับ..)