ต้นเหตุของความเสื่อม

ความคิดความเชื่อในสังคม นั้นแพร่กระจายได้สองแบบ

ความคิดแบบแรก (rational meme) คือ ความคิดที่วิวัฒนาการผ่านการวิจารณ์และปรับปรุง จนแพร่กระจายได้ดีขึ้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น มุกตลกหรือรูปในเน็ต ที่ variation ไหนยิ่งบันเทิงก็จะยิ่งแพร่เข้าไปในหัวคนมากขึ้น หรือ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ความรู้ไหนลึกกว่ามีประโยชน์มากกว่าก็ยิ่งแพร่ออกไป ความคิดประเภทนี้จะถูกปรับปรุงไปเรื่อย ๆ เป็นธรรมชาติของมัน

ความคิดแบบที่สอง (anti-rational meme) คือ ความคิดที่สั่งให้เราปิดกระบวนการวิจารณ์ในหัวเราและหัวคนอื่น เพื่อให้ความคิดนั้นเองยืนหยัดไปได้เรื่อย ๆ คือความศรัทธายึดมั่นในอะไรก็ตามในระดับที่แค่ตั้งคำถามก็ “ชั่ว” แล้ว ยกตัวอย่างเช่น “มีความดีสัมบูรณ์ในศาสนา” ทำให้บางคนไม่กล้าคิดว่าแก้คำสอนให้ดีขึ้นได้ไหม มีจริยธรรมที่ลึกซึ้งไปกว่าในคัมภีร์ไหม หรือเรื่อง “ความดีของกษัตริย์” ที่เราคนไทยถูกปลูกฝังมาแต่เด็กแบบห้ามสงสัย หรือแม้กระทั้งเรื่อง “มนุษย์ทุกคนต้องเท่ากัน (แบบไม่ถามว่าในแง่ไหน)” ทำให้คำถามวิจัยอย่าง เพศหรือเชื้อชาติมีผลต่อความถนัดทางความคิดไหม เสี่ยงโดนกล่าวหาว่าเหยียดเพศหรือผิว และแน่นอนความคิดแนว “อำนาจนิยม” ทั้งหมดอยู่ในประเภทนี้

แม้ว่าเนื้อหาของ Anti-rational meme อาจประโยชน์ได้ในเวลานึง แต่วิธีการแพร่กระจายของมันเองได้ปิดทางการพัฒนาลงไป ฉะนั้นในระยะยาวแล้ว ความคิดแบบนี้เป็นต้นเหตุของความเสื่อมเสมอ

ความเศร้าก็คือ คนไทยเราโดนหล่อหลอมในวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วย anti-rational meme คำพูดอย่าง “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” หรือ “แค่คิดก็บาปแล้ว” นั้นอยู่ในวิถีชีวิตปกติเรา ล่าสุดเหตุการณ์การเมืองแสดงให้เห็นถึง ความแข็งแรงของ anti-rational meme ที่สามารถสั่งให้คนปิดปากของคนตั้งคำถามแม้ต้องใช้ความรุนแรง ความคิดแนวนี้เป็นเหมือนไวรัสที่แพร่กระจายในสังคมและปิดศักยภาพการใช้ความคิดของสังคม ซ้ำร้ายคือคนที่ติดเชื้อไม่รู้ว่าตัวเองป่วยมากแค่ไหน

แม้เราทุกคนต่างก็มี anti-rational meme อยู่ในหัวไม่มากก็น้อย แต่ผมที่เขียนมาก็เพราะหวังว่าหลังจากเราได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของมันในเชิงวิชาการแล้ว เราจะสามารถวิเคราะห์ความคิดตัวเองแบบไม่มีอคติดูได้บ้าง

ลองดูครับ ว่ามีความคิดความเชื่อที่ปิดกั้นศักยภาพของเราอยู่ไหม

Leave a comment