อุปมาอุปไมยชีวิต

การบ้านวิชาศิลปะการใช้ชีวิตครับ ตั้งใจทำมากก็เลยเอามาเป็นบล็อกด้วยเลย

ชีวิตเราไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องใกล้ตัวหรือสิ่งที่อยู่ติดกับคนเรา ชีวิตคือทั้งหมดที่เป็นเรา  แต่ในความจริง มีช่วงเวลาที่คนเราใช้ชีวิตเพียงบางเวลาเท่านั้นที่เราระลึกรู้ถึงความมีชีวิต เวลาอื่นๆ ส่วนใหญ่ของเรามักจะนำความระลึกรู้ไปอยู่กับการทำงาน การสื่อสารและชีวิตประจำวัน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้แม้คนเราจะมีชีวิตอยู่ตลอดเวลาแต่เรากลับไม่สามารถเข้าใจว่าชีวิตคืออะไรได้อย่างน่าขัน ผมเองก็ถือเป็นคนน่าขันผู้หนึ่งเช่นกัน

ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา ผมพยายามทำความเข้าใจความจริงในหลายๆ แง่มุมผ่านความคิด “ชีวิตคืออะไร” นับเป็นความถามหนึ่ง  ผมไม่แน่ใจว่าความจริงนั้น ที่จริงแล้วซับซ้อน หรือว่าเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง แต่ผมเชื่อว่าวิธีเข้าใจถึงความจริงที่ดีวิธีหนึ่งคือวิธีแบบวิทยาศาสตร์ นั้นคือการจับเอาสิ่งที่เราพยายามทำความเข้าใจมาอยู่ในกรอบที่ดูเรียบง่ายกว่า ลองเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านกรอบนั้นว่าได้ผลตรงกับการสังเกตเห็นนอกกรอบหรือไม่ ตราบใดที่ผลการทดลองยังได้ผลตรงกันอยู่แสดงว่าเราสามารถพูดถึงกรอบนั้นแทนความเป็นจริงได้

ผมพบว่ามีกรอบๆ หนึ่งที่ใช้อธิบายแง่มุมต่างๆ ของชีวิตได้ดี ด้วยความที่เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน หลากหลาย ถูกสร้างขึ้นผ่านวัตถุดิบ ร่วมกับจิตสำนึกรวมไปถึงจิตใต้สำนึก สิ่งที่ผมกล่าวถึงคืองานจิตรกรรม

ถ้าชีวิตเป็นตัวงานจิตรกรรม สิ่งที่เป็นตัวกำหนดชีวิตหรือความคิดนั้น ย่อมคือสีสันต่างๆ ที่ผสมกันบนถาดสี  ถาดสีที่ดีนั้นควรจะเป็นถาดที่บรรจุเนื้อสีพอสมควร และมีจำนวนสีที่หลากหลายเพียงพอที่จะสะท้อนความต้องการของศิลปินออกมาได้  การที่เนื้อสีมีอยู่น้อยก็เปรียบเหมือนการมีความคิดความอ่านที่สะสมมาน้อย เมื่อถูกสีจากที่อื่นมาปนเปื้อนเข้าก็ย่อมเปลี่ยนสีไปอย่างง่ายดาย การที่เราศึกษาหาความรู้ในเรื่องต่างๆ อย่างลึกซึ้งย่อมทำให้ถูกชักจูงไปตามกระแสต่างๆ ทั้งจากคนอื่นและตัวเองได้ยาก  อย่างไรก็ตาม การสะสมความรู้ความเข้าใจแต่มีขอบเขตเพียงในวงแคบก็เปรียบเหมือนถาดสีที่มีสีอยู่เพียงโทนเดียว หากเปรียบความรู้ทางคณิตศาสตร์เป็นสีเขียว นักคณิตศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากๆ ก็จะสามารถสร้างสรรค์งานจิตรกรรมสีเขียวต่างๆ ของต้นไม้โดยเจาะละเอียดจนเห็นทุกเส้นใยของสีใบไม้ทุกใบในป่า แต่อาจไม่สามารถสะท้อนความงามใต้ท้องทะเลหรือสีสันอันหลากหลายของปลาตัวเล็กมากกมายที่มีอยู่ คนที่มีสีสันให้เลือกระบายมากเท่านั้นจึงจะเป็นผู้สะท้อนความจริงที่หลากหลายออกมาได้

เราทุกคนล้วนมีความต้องการพื้นฐานต่างๆ ที่เป็นแรงขับให้เรากระทำสิ่งต่างๆ  ในทำนองเดียวกับศิลปินที่มีแรงบันดาลใจที่จะต้องระบายสีออกมา ผลงานชีวิตที่ออกมาจะมีคุณภาพเพียงใดส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับสีมีมีอยู่ในถาดหรือความคิดนั้นเอง  มีผู้กล่าวว่างานศิลปะที่ดีคืองานที่จรรโลงใจของผู้ชม ผมเชื่อว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่จรรโลงสังคมให้ดีขึ้นเช่นกัน

งานศิลปะที่ดีนั้นมีจุดร่วมที่สามารถสรุปออกมาเป็นหลักการหลวมๆ ได้ เช่น ต้องมีสมดุล มีจุดเด่นที่ดึงสายตา มีความเรียบง่ายพอให้คนดูไม่สับสน และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีแก่นความคิดที่ดีที่จะสื่อออกมา ชีวิตที่ดีก็เช่นกัน นั้นคือต้องดูแลรักษาสมดุลในแง่ต่างๆ ของชีวิต เช่นเรื่องครอบครัวและการทำงาน ไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน และพยายามสื่อสารความคิดที่ดีให้กับสังคม โดยจะทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าเป็นคนที่มีชื่อเสียงเป็นจุดสนใจ

อย่างไรก็ดี หลักการของงานศิลปะที่ดีนั้น ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการสร้างงานศิลปะ ยังมีรูปแบบมากมายไม่จำกัดที่สามารถสร้างสรรค์งานที่แม้จะหลุดจากหลักการที่เคยมียังคงความน่าทึ่ง ผมนึกถึงผลงานของปิกัสโซและผมเชื่อว่าศิลปินสิทธิ์เต็มที่ที่จะระบายภาพใดๆ ลงในผืนผ้าของตัวเอง ชีวิตของคนแต่ละคนสามารถมีสมดุลในระดับที่ต่างกันไปหรือบางคนก็ไม่ต้องการมีชื่อเสียง แม้ผมคิดว่าการสื่อสารความคิดที่ดีให้กับสังคมเป็นเรื่องที่ดี แต่การสร้างสูตรสำเร็จตามความเชื่อของตัวเองแล้วบังคับให้สังคมยึดตามนั้นทำให้สังคมขาดความหลากหลาย เพราะขาดการพยายามคิดสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ ที่ดีกว่า

งานศิลปะใดๆ แม้จะมีวัตถุดิบหรือความรู้ความคิดที่เพรียบพร้อม แต่ก็ยังออกมาเป็นงานที่ดีไม่ได้ถ้าขาดการวางแผนและความเชี่ยวชาญ ซึ่งคือการใช้จิตสำนึกและจิตใต้สำนึกในการทำงาน  งานจิตรกรรมที่ขาดการวางแผนวางองค์ประกอบย่อมเป็นงานที่ไม่สมดุลหรือาจสื่อความคิดได้น้อย เราสามารถเห็นการวางแผนที่ชัดเจนได้ผ่านงานแนวมินิมอลลิซึ่ม อย่างไรก็ตามการวางแผนในทุกลายเส้นที่จะวาดนั้นย่อมเปลืองเวลาและพลังงาน การมีความเชี่ยวชาญหรือใช้จิตใต้สำนึกในการทำงานไปโดยอัติโนมัติจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่นเดียวกันกับชีวิตที่นอกจากควรมีความคิดความอ่านที่ลึกซึ้ง ยังควรมีสติรู้ตัวว่ากำลังอยู่ในสถานะใดและจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร และยังจำเป็นต้องฝึกทักษะในแง่ต่างๆ ให้เชี่ยวชาญเผื่อให้สามารถทำงานได้รวดเร็ว กระนั้นบางครั้งความเชี่ยวชาญก็ทำให้เราเผลอทำตามความเคยชินจนต้องตามแก้ เราจึงต้องหาสมดุลระหว่างการวางแผนและความเชี่ยวชาญ

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นความพยายามมองชีวิตผ่านกรอบของงานจิตรกรรม แต่โดยส่วนตัวนั้นผมเชื่อว่าชีวิตก็คือชีวิต เราไม่สามารถแสดงโลกที่เป็นรูปทรง 3 มิติมาเป็นบนผืนผ้า 2 มิติให้ครบทุกแง่มุมฉันใด การฉายภาพชีวิตลงบนงานจิตรกรรมย่อมไม่สมบูรณ์ฉันนั้น

update: แนวคิดเรื่องผสมสีนั้นที่จริงผมได้เคยเขียนไว้ตั้งแต่เอนทรี่ผสมสีความคิดครับ มันเป็นแนวคิดจากป่านนั้นเองครับ ตอนนั้นกำลังคิดเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้วพอได้อ่านงานของป่านก็รู้สึกปิ๊งขึ้นมาเลยแล้วก็เก็บไว้ในใจมาตลอด

โลกนี้ดีกว่าที่เรามอง

พอเห็นใครดูแย่กว่าเรา เราก็จะประเมินเขาต่ำกว่าความเป็นจริง
พอเห็นใครดูเก่งกว่าเรา เราก็จะประเมินเขาต่ำกว่าความเป็นจริง

ผม”เชื่อเอา”ว่าคนเราเป็นแบบนี้อ่ะครับ

ที่คิดแบบประโยคแรกเพราะ เห็นว่าคนเราเวลามองคนติดยา สูบบุหรี่ หรือเจ้าชู้  ถ้าตัวเองไม่มีประสบการณ์นั้นมาก่อนจะมองว่าคนที่ทำนี่แย่มากทำเข้าไปได้ยังไง ทั้งที่จริงๆ ระยะห่างของการทำ/ไม่ทำนั้นมันก็สั้นๆ ก้าวเข้าไปลองแล้วจะรู้ว่า อืม… คนที่ทำกับไม่ทำนั้นต่างกันด้วย กำแพงที่คนไม่ทำนั้นสร้างขึ้นมาเอง (ติดยาสูบบุหรี่ เป็นตัวอย่างที่คนค่อนข้างมองแบบเดียวกัน  แต่มันยังมีเรื่องที่ก่ำกึ่ง บางคนมองว่าดี บางคนว่าไม่ แล้วก็มาเหยียดกันเอง ทั้งในแง่ศีลธรรมหรือการเมือง)

ที่คิดแบบประโยคหลัง ส่วนหนึ่งก็ชัดเจนขึ้นหลังจากที่ฟังพี่ป๊อกพูดเรื่อง Dunning-Kruger effect ใน ComKUCamp คำพูดที่ว่า “Incompetent individuals tend to overestimate their own level of skill.” สำหรับผมมันก็กลายๆ ได้ว่า เรามองคนที่เก่งกว่าเรามากๆ ว่าไม่ได้ต่างจากเราขนาดนั้น   …อีกส่วนหนึ่งที่คิดแบบนี้นั้นเป็นความเชื่อในลักษณะเดียวกันตั้งแต่ตอนเล่นโกะแค่มันไม่ค่อยชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ถ้าคนเราเป็นแบบนี้จริงๆ ความจริงเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแย่หรือเรื่องดี ข้างใดข้างหนึ่ง

พูดถึงฝั่งแรก เรื่องแย่ที่ชัดเจนอยู่ก็คือ คนเราอาจจะเข้าใจกันผิดๆ พอมองคนที่ระดับต่ำกว่าเรา เราจะมองเขาห่างจากเรามาก จนเราไม่พยายามเข้าใจเลย  พอมองคนที่ระดับสูงกว่าเรา เราจะมองว่าเขาอยู่ในระดับใกล้กับเรา อาจจะเอาวิธีคิดที่เราคิดไม่ถึงมา oversimplify ให้เราเข้าใจได้

แต่มันก็มีเรื่องดีเหมือนกัน เพราะมันทำให้เราจะตัดสินใจพุ่งขึ้นไปเพราะคิดว่าข้างบนอยู่ไม่ไกล และไม่ยอมลดระดับเพราะคิดว่ามันต่างจากเรามากมาย ก็ยังดีครับ มันทำให้แต่ละคนมุ่งพัฒนา (เพียงแต่มันไม่ใช่มุ่งร่วมมือกันพัฒนา)

ลองวิเคราะห์ดู ที่เรามองโลกแบบนี้ก็เพราะว่าเราต้องการมี seft-esteem (ขั้นที่ 4 ใน Maslow’s Law) การที่คนเรานั้นไม่มีเรื่องให้เรานับถือตัวเองขึ้น ทางเดียวที่ทำได้อาจจะเป็นลดระดับทั้งโลกลง

ในทางกลับกัน ถ้าเราพอจะมี seft-esteem อยู่จากแหล่งอื่น เราก็คงจะมองทะลุภาพลวงตานี้ได้ แล้วก็จะมองเห็นความเก่งกาจที่หลากหลายเต็มไปหมด เลิกมองว่าคนในโลกมันแย่เหลือเกินเพราะเราก็ไม่ต่างจากเขาเท่าไหร่ แล้วก็เริ่มอยากร่วมมือกับโลกแล้วสร้างสรรค์อะไรที่ดีขึ้นมา 🙂

ผสมสีความคิด

ผมเคยคิดหา วิธีการเปรียบเทียบว่า การคิดใคร่ครวญถึงเรื่องต่างๆ นั้นเปรียบเหมือนอะไร อยู่เหมือนกัน
ผมเคยคิดถึงการหยั่งรากลึกของต้มไม้
แต่สิ่งที่ป่านคิด… “เปรียบประสบการณ์กับสีที่เติมมาในภาชนะสักอย่างหนึ่ง” นั้นตรงใจผมมากๆ

การใคร่ครวญจนได้ข้อสรุปบางอย่างนั้น ก็เปรียบเหมือนการเติมเนื้อสีให้การจานสี
หลายๆ ครั้งที่ใคร่ครวญไปมา ข้อสรุปที่ได้อาจเปลี่ยนไป เป็นอีกสีหนึ่ง แต่เนื้อสียังคงมากขึ้นๆ
ใคร่ครวญบ่อยครั้งเท่าไหร่ ได้ข้อสรุปเปลี่ยนไปบ่อยครั้งเข้า  เนื้อสีก็ยิ่งมากขึ้นๆ

การที่เนื้อสีมาก นั้นจะทำให้ การที่มีจากคนอื่นมาผสม จะได้ทำให้เราเปลี่ยนสีได้น้อยลง  นั้นคือความคิดมีความเสถียรมาก  เพราะผ่านการอุดช่องโหว่ทางเหตุผลของความคิดต่างๆ มามากแล้ว

คนที่ไม่ค่อยคิดใคร่ครวญถึงเรื่องๆ ใด เมื่อถูกคนอื่นมาผสมสีนิดหน่อย ก็เปลี่ยนสีไปได้ง่าย
และบางครั้งการเข้ามาผสมสีนั้น อาจทำด้วยเจตนารมณ์เคลือบแฝง

ในทางกลับกัน การที่ความคิดมีความเสถียรมาก ก็ย่อมทำให้เส้นทางที่เราเลือกเดินไม่ไขว้เขวและสับสนจนเกินไป

ติดสินโดยไม่คิดเอง รับได้แต่ไม่(อยาก)ทำ

ถ้าคุณยังไม่เคยทำอะไรในสิ่งที่คุณคิดว่ามันเลว
คุณไม่รู้สึกจริงๆ หรอกว่า การไม่ทำความเลวนั้น แล้วมันรู้สึกดียังไง
หรือในทางกลับกัน คุณก็ไม่มีทางรู้หรอกว่า ที่จริงมันรู้สึกดียังไง มันอาจจะไม่เลวอย่างที่คิดก็ได้

ตราบใดที่คุณกำลังรู้สึก ในสิ่งที่คุณยังไม่เคยทำ
ความรู้สึกนั้นไม่ใช่ของคุณ
แต่มันสิ่งที่คนอื่นยัดเข้าหัวคุณ

ความคิดบอกกับผมมาแบบนี้

การยอมให้ค่านิยมจากคนอื่นหรือสังคม มาตัดสินการเลือกทางเดินในชีวิตเรา
การไม่ได้ใช้ความรู้สึกที่เกิดจากประสบการณ์ของเราเองนั้น
ผมไม่คิดว่าอะไรที่ไม่ดีหรอกครับ คนอื่นและสังคมก็คงหวังดีกับเรา

แต่การไปตัดสินการเลือกของคนอื่น ไม่ว่าจะสรรเสริญหรือประณามเค้าคนนั้น
โดยใช้ความรู้สึกที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเราเองด้วยซ้ำ
ถ้าผมทำแบบนั้น ผมคงเป็นคนที่ช่างอยุติธรรมซะจริงๆ

ปล. จริงๆ ก็คือ ผมแค่กำลังคิดว่า… ผมจะไม่ด่าคนที่เป็นเพลย์บอยเด็ดขาด ฮา
ปล2. พิมพ์ผิดไปหลายที่ คนที่ได้อ่านไปแล้วแต่ไม่เห็น ปล.2 นี้ แสดงว่าอ่านแบบที่พิมพ์ผิดไป ต้องโทษทีนะครับ

โลกความจริง โลกความฝัน โลกสังเคราะห์

เพิ่งดูเรื่อง paprika มาครับ
เป็นเรื่องที่ทำให้ รู้สึกถึงความทับซ้อนของความฝันกับความจริงสุดๆ

พอมาดูตัวเองตอนนี้ที่ปวดที่เข่ามากๆ
แล้วมองดูตัวเองแต่ก่อนตอนเป็นนักกีฬาวิ่งที่แข็งแรงมากมาย
มันทำให้รู้สึกเลยว่า นี้คือความฝันหรือเปล่า
นี่เป็นสิ่งที่ เราต้องยอมรับความจริง

รู้สึกเอาเองว่าเข้าใจ เศษเสี้ยว ความรู้สึกของคนขาขาด แขนขาดแล้ว
คิดปลอบใจตัวเองว่า อย่างน้อยการปวดเข่านี้ ก็เป็นประสบการณ์การใช้ชีวิตพิเศษ ที่มีแต่เราที่ได้เจอ 
เป็นสิ่งพิเศษ ที่ชีวิตให้มันกับเรามา
รู้สึกนิดๆ ว่าช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น แม้ความเจ็บจะยังเป็นจริงอยู่
ไม่แน่ใจว่า ถ้าเราปวดไปนานๆ แต่ก็คิดได้แบบนี้ไปนานๆ เหมือนกัน
เราจะเริ่มไม่รู้สึกว่า ความปวด มันลิงค์กับความทุกข์หรือเปล่านะ

ลึกๆ ก็อยากให้มันเป็นความฝันที่ตื่นมาแล้วหายปวดหน่ะแหล่ะที่จริง
มันทำให้เรานึกถึง เรื่องสมมติที่เราชอบนึกถึงบ่อยๆ เรื่องนึง (แรงบันดาลใจจากเรื่อง ลูป)
ถ้าเราสามารถ ทำการ digitize ตัวเอง เพื่อแลกกับความอมตะ แล้วเรายอมไหม

เรายอม 

ที่จริง.. มันไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทำเลยนี่นา
การต้องอยู่ในโลกจริง เราต้องดำเนินตามกฎของโลกจริง
ในความฝันของเรา เราเป็นคนตั้งกฎเอง (ซึ่งมีพื้นฐานมาจากโลกจริง) ในชั่วเวลาหนึ่งๆ
โลกสังเคราะห์ คือโลกที่เราสร้างกฎขึ้นมาเองได้
เราแอบอธิษฐานว่า ขอให้ได้อยู่ในโลกนั้น ที่อมตะ ก่อนเราตายเถอะนะ

เราไม่ได้ ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง ถึงอยากอมตะ
เราชอบความเปลี่ยนแปลง ถึงอยากอยู่รับรู้เรื่องราว รื่นรมย์ของชีวิต ไปเรื่อยๆ  …ตอนนี้ เรามีความสุขที่เรามีชีวิตมาก
จริงอยู่ ความตายอาจเปิดประตู พาเราไปสู่ดินแดนที่มีกฎแบบใหม่
แต่มันก็อาจสิ้นสุด เป็นความว่างเปล่า แบบใน death note ได้เหมือนกัน
และถ้าเป็นแบบนั้น มันน่าเสียดาย ความรู้ที่มี ที่น่าเอาไปบอกต่อจริงๆ

ปล. เรื่องก็คือว่า คนที่ผมแอบชอบคนแรกนั้น ผมรู้จักเธอคนนั้นจากในความฝันมากกว่าในความจริงซะอีก
ปล2. รู้สึกว่าตัวเอง เฟื้องเข้าขั้น  แต่ผมเป็นคนปกตินะครับ  หวังว่าบางอย่างจะมีประโยชน์กับคนที่อ่าน

ใช้ชีวิตอย่างสบายใจ

ขณะนี้ ขณะที่กำลังจะสอบมิดเทอมในเช้าวันรุ่งขึ้น
ผมเกิดความรู้สึกไม่อยากอ่านหนังสือและอยากนั่งฟังเพลงสบายใจ
พร้อมอยากอ่านนวนิยายขึ้นมาอย่างมาก โดยไม่รู้สาเหตุ

แต่ถ้าจะให้หาสาเหตุ ก็อาจจะเพราะว่า ผมไม่ต้องเอนทรานส์แล้ว
อาจจะเพราะผมขี้เกียจแข่งขัน ได้เท่าไหร่ก็แค่นั้น
มันเบื่อมากครับ ไม่มีไฟเอาเสียเลย

ความรู้สึกนี้ พาลทำให้รู้สึก ขี้เกียจทำอะไรทุกอย่างในชีวิต
อยากอยู่สบายๆไปวันๆ  ไม่ต้องแล้ว กับการเขียนโปรแกรมเพื่อซ้อมสำหรับการเข้าค่าย สสวท.

การไม่ประสบความสำเร็จ การได้อยู่สบายๆ 
ผมเถียงตัวเองไม่ได้ครับว่า มันผิด

เมื่อคิดแบบมีเหตุผลและไตร่ตรองดู ผมรู้ดีว่า การใช้ชีวิตที่ดีที่สุด ก็คือการหาจุดสมดุลระหว่าง ความสำเร็จและความสบายใจที่พอดีที่สุด
และความรู้สึกของผมขณะนี้ ก็ให้คำตอบมาทันที

ผมไม่ได้ต้องการความสำเร็จเสียเท่าไหร่เลยครับ
 
ตราบที่ผมเองยังพอมีคุณค่าอยู่ 
ก็พอ

อ่านหนังสือ

ไม่ได้ up blog นาน
ที่จริงมีหลายเรื่องที่อยากเขียน แต่รู้สึกไม่มีแรง
ช่วงนี้อ่านหนังสือเยอะมาก เพื่อเป็นข้อมูลหลายๆอย่าง
จะบอกให้ อ่านหนังสือหน่ะ ดีนะ
แม้ความรู้ ความคิด ความรู้สึก จากการอ่านหนังสือจะไม่มีวันลึกซึ้งเท่ากับการทดลองทำจริง
แต่มันก็ช่วยย่อเวลาไปได้มาก ก็เหมือนกับการศึกษาในทุกๆสมัย — เป็นการต่อยอด
กำลังคิดจะเขียนอะไรจริงจังเกี่ยวกับ “สิ่งที่ไม่เคยบอก”
ไม่รู้จะมีแรงและเวลาพอไหม
ขออวยพรให้ตัวเองโชคดี

ปล. ที่จริงก็คงถือว่าอ่านไม่มากหรอกนะถ้าเทียบกับบางคน ตั้งแต่เปิดเทอมมานี้อ่านไป 10 เล่ม รู้สึกได้แนวคิดอะไรหลายๆอย่างที่ชัดเจนขึ้น

วันหลังวันแรก… ของปีสุดท้าย

อีกไม่กี่นาที ก็จะขึ้นต้นวันที่ 3 ของช่วงเวลาเปิดเทอม

ทุกๆอย่างในทุกๆปีก็ให้ความรู้สึกที่เหมือนๆเดิม เพียงแต่ทุกๆวันที่เรียนนั้นก็รู้ว่า ปีถัดไป จะไม่มีการมานั่งเรียนแบบนี้ที่ให้ความรู้สึกเหมือนๆเดิมในที่เดิมๆที่นี้แล้ว

วันนี้ไฟดับหลังฝ่าฝนกลับบ้านมาได้ไม่นานและเตรียมจะกินข้าว จึงได้กินดินเนอร์ใต้แสงเทียน หลังจากนั้นก็นอนเล่น เพราะหงุดหงิดที่ทำอะไรไม่ได้เลย

แต่บางทีเราก็อยากให้ไฟดับเหมือนกัน… ชั่วเวลาที่ไม่เพียงตัดขาดจากสิ่งที่เราเห็นด้วยตา ยังตัดขาดจากภาระหน้าที่ที่แบกไว้ด้วยชื่อ เพราะเราทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากนอนเล่น เพราะเราก็เหนื่อยนิดหน่อยหน่ะ

ไอ้ชีวิตที่เฝ้าบอกตัวเองว่าน่าจะใช้ให้คุ้มค่า ที่แท้แล้วมันเป็นแบบที่เราเป็นจริงหรือ

ปล. อยู่ ม.6 ไม่ต้องออกกำลังกาย แค่ขึ้นลงตึกก็เพียงพอ

[[Musical Mind]] : ความทรงจำ : แอม เสาวลักษณ์

การคัดเลือก

ผมสะสมเพลงมากมายหลายพันเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ แต่เอาเข้าจริงๆก็ยังมีเพลงที่ค้างเอาไว้ไม่เคยเปิดฟัง
เว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ตมีนับไม่ถ้วน ก็ยังพอนับได้ว่ามีที่เข้าอยู่ประจำกี่เว็บ
หนังสือที่ดี ที่น่าอ่านนั้นมีมากเกินกว่าจะใช้เวลาทั้งชีวิตอ่านได้ทั้งหมด

สารในโลกนี้นั้นมีมากเกินกว่าความสามารถของมนุษย์จะรับมันไว้
เรา…อย่างมาก ก็ได้แค่เลือกที่จะรับมันไว้เพียงบางส่วน

ผมเคยใช้โปรแกรม plug-in ของ msn plus! ตัวหนึ่งซึ่งตอนแรกเห็นนั้นก็ทึ่งในความสามารถของมันที่หลากหลาย คนที่ใช้โปรแกรมนี้จะสามารถรู้ได้ว่าใครเปิดหน้าจอเราเพื่อจะมาคุยกับเรา ใครปิดหน้าจอที่คุยกันอยู่ และความสามารถพิเศษอื่นๆเต็มไปหมด

ก่อนจะเริ่มใช้ เอ่ะใจคิดอยู่เหมือนกันว่า ไอ้ความสามารถที่จะรู้ได้ว่าใครปิดหน้าจอของเราระหว่างที่คุยกันอยู่นั้น จะมากวนใจเสียความรู้สึกไปเปล่าๆ หรือไม่ แต่อีกความคิดก็สวนกลับไปว่า รู้ย่อมดีกว่าไม่รู้ ขอเพียงตัวเรารับได้ก็พอ พยายามรับรู้ด้วยสติสัมปชัญญะและไม่เก็บมาเป็นอารมณ์… เท่านี้ก็จบ ด้วยดี

ผมทำไม่ได้
เวลาที่เรารู้ว่าคนที่เราด้วยอยู่ด้วยนั้น ปิดหน้าจอเราไปเสมอๆ เวลาที่เราพยายามจะไม่รู้สึกอะไร เวลานั้นสมองก็เก็บไปคิดแล้ว
 …
 
ผมลบโปรแกรมนั้นทิ้งไปนานแล้ว
เรื่องบางอย่างเราไม่จำเป็นต้องใส่ใจที่จะไปรับรู้การมีอยู่ของมัน
เรื่องที่ไม่เป็นความจริง เรื่องที่ทำให้เสียความรู้สึกเปล่าๆ เรื่องที่ไม่ได้ก่อประโยชน์กับใคร… 3 อย่างนี้เราอาจทำเป็นมองผ่านมันไป

ก็เหมือนกับเพลง… ยังมีเพลงเพราะรอให้เราฟังอยู่อีกมากมาย