การสื่อสารและการกระจายอำนาจ, มองผ่านประวัติศาสตร์

ตัดสินใจอ่าน “ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า กับชะตากรรม ของสังคมมนุษย์” แค่บางบทที่อยากอ่าน(ทิ้งไว้นานมากเป็นปีๆ)  แต่กระนั้นก็ยังได้ประโยชน์มากมายทีเดียวโดยเฉพาะบทส่งท้าย ขอสรุปใจความสำคัญแบบด่วน ไม่พูดมากละกันนะครับ

หนังสือเล่มนี้พยายามศึกษาหา สาเหตุที่ทำให้มนุษย์ในแต่ละทวีปแต่และท้องที่ มีพัฒนาการของอารยธรรมที่แตกต่างกัน เช่น ทำไมชาวกรีกพัฒนาเร็วกว่าปิ๊กมี่หรือทำไมจีนที่พัฒนาก่อนหน้านั้นจึงชะลอลง คำถามที่น่าสนใจต่างๆ เต็มไปหมด   ที่สำคัญก็คือข้อเสนอต่างๆ พยายามศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ด้วยการตรวจทานทฤษฎีจากเหตุการณ์ทั่วโลกในเวลาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

จาเร็ต ไดมอนด์ ผู้เขียนเสนอว่าเหตุผลนั้นไม่เกี่ยวกับความแตกต่างของชาติพันธ์เลย(คือถ้าเอาคนยุโรปไปอยู่ออสเตรเลียตั้งแต่แรกสุดก็จะมีวิถีชีวิตแบบชาวอะบอริจิ้นที่เก็บของป่าล่าสัตว์) แต่ขึ้นกับ 4 เหตุผลหลักนี้

  • ท้องที่ที่มีชนิดของ สัตว์หรือพืชที่สามารถนำไปเก็บสะสมเป็นเสบียงส่วนเกินได้ จะพัฒนาก่อน  มิฉะนั้นก็ย่อมไม่สามารถสะสมอาหารต้องเก็บของป่าไปทุกวัน
  • ท้องที่ที่อยู่ในทวีปที่ แนวเทือกเขาสูงวางตัวแบบตะวันออกไปตก จะพัฒนาก่อนแนวเหนือไปใต้  เพราะภูเขาที่ขวางกั้นจะเป็นตัวกำหนดเส้นทางแนวการเดินทางและการเคลือนย้ายเทคโนโลยี  ถ้าภูเขาเป็นแนวเหนือใต้ การขนส่งเทคโนโลยีของ 2 ท้องที่จะมีลักษณะภูมิอากาศที่ต่างกัน(เขตโซนอากาศที่แบ่งตามละติจูดต่างกัน) จึงถ่ายทอดเทคโนโลยีไม่ได้เร็วเท่า แนวออกตกที่ทำให้การสื่อสาร “ภายใน” รวดเร็วกว่า (เช่น ยูเรเชีย)
  • ท้องที่มีแผ่นดินติดกับที่ๆ เจริญ จะทำให้สื่อสารไปถึง ท้องที่ “ภายนอก” ตัวเองได้เร็วกว่า
  • ท้องที่ที่ใหญ่และมีคนมากกว่า จะมีโอกาสเกิดนวัตกรรมขึ้นถี่กว่า และถ่ายทอดกันได้ scale ใหญ่กว่า

ลักษณะพัฒนาการนั้นเป็นลักษณะที่

  • คนเฉพาะกลุ่มบางกลุ่มนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เกิดความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีนี้บางอย่างมากๆ คนในกลุ่มจะหาทางออกได้เองเกิดเป็นนวัตกรรมในกลุ่ม เช่น เอสกิโมที่คิดอิกลู  หรือ กลุ่มคนที่เริ่มมีชนชั้นจึงจะภาษาเขียนก่อนใคร
  • แต่ละกลุ่มคิดได้น้อยอย่าง
  • พึ่งพาการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ทำให้กลุ่มที่สื่อสารกับกลุ่มอื่นมากจะพัฒนาเร็วมาก  ยิ่งโดดเดี่ยวยิ่งช้า
  • การถ่ายทอดเทคโนโลยี มี 2 ลักษณะ 1. อาศัยการไปพบเห็น ทำให้เกิดความรู้สึกว่า มีสิ่งนี้อยู่และสามารถทำได้ จึงนำกลับไปคิดขึ้นในรูปแบบของตัวเอง ได้โดยไม่ต้องอาศัยความพยายามทำกลุ่มที่คิดก่อน (เช่้น ภาษาเกาหลีที่เห็นภาษาจีน)  2. คัดลอกเทคโนโลยีมา   (รูปแบบแรกมักจะได้วิทยาการใหม่ๆอีก)

ที่เขียนข้างต้นเป็นเหตุผลที่ทำให้ดินแดนตรงเมโสกับจีนนั้นพัฒนาไปสุดยอดในยุคหนึ่ง แต่ต่อมากลับช้ากว่ายุโรป(ซึ่งก่อนหน้ากรีกโรมัน ไม่เคยพัฒนาถึงขึ้นคิดอะไรเองเลย รับความรู้คนอื่นตลอด) เพราะอะไร ?

  • ความเปราะบางทางสภาพแวดล้อมของดินแดนเมโส กว่าทั้งจีนและยุโรป  การเดิมที่มีป่าปุ่มชื่น การพัฒนาที่เร็วกินทรัพยากรไปมาก ทำให้สภาพแวดล้อมห่วยถึงขีดสุดกลายเป็นทะเลทราย(ที่อื่นก็ใช้ทรัพยากรแต่ไม่เปราะบาง เลยไม่เป้นอะไร ต้นไม้ขึ้นใหม่ทัน)
  • ความเป็นเอกภาพเกินไปของจีน  จากเดิมที่ยิ่งสื่อสารกันง่ายยิ่งดีกลายเป็นว่าหลังจีนเป็นเอกภาพ ทำให้ “การตัดสินใจรวมศูนย์” มีการตัดสินใจยุตินวัตกรรมต่างๆ ได้เด็ดขาดได้ง่าย  (เช่น การเดินเรือ[ก่อนหน้าเป็นกองเรือที่ก้าวหน้าที่สุด]  เครื่องปั่นฝ้ายพลังน้ำ[ที่อาจทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม]  นาฬิกาไขลาน)
  • ในขณะที่ยุโรปนั้นแตกกลุ่มประเทศไม่เคยน้อยกว่า 25 ประเทศ (เพราะพื้นที่ที่เป็นภูเขาเดินทางไม่สะดวกนัก ทำให้มีจัดตั้งกลุ่มปกครองตัวเองได้ง่าย) ทำให้โครงการต่างๆ ที่ถูกปฏิเสธจากใครคนหนึ่งสามารถไปเกิดขึ้นกับอีกกลุ่มได้ (เช่นโคลัมบัส ที่โครงการเดินเรือนี้ โดนปฏิเสธให้ทุนไป 2 ประเทศ ก่อนหน้าที่สเปนจะโอเคด้วย) และเมื่อกลุ่มอื่นเห็นกลุ่มไหนทำได้ดี ก็จะรีบตามทันที ทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นด้วยความถี่มากขึ้นเป็นเท่าๆ เกือบตามจำนวนกลุ่ม

จะเห็นได้ว่า การสือสารที่อำนาจถูกกระจายเนี่ย เป็นสิ่งที่สำคัญต่อความเร็วของการพัฒนามาก
จะเห็นได้ว่า อินเตอร์เน็ตมันคือสิ่งนั้นนี้หว่า!

ในความรู้สึกผมนั้น ผมรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ากลุ่มคนทีเล่นอินเตอร์เน็ต โดยคอยรับข้อมูลการพัฒนาใหม่ๆ มีการอภิปรายวิจารณ์ระบบต่างๆ เสนอความเห็นต่างๆ กำลังกลายเป็นกลุ่มคนที่พัฒนาความคิดตัวเองได้เร็วที่สุดในโลก

ปล. ที่จริงเรื่องในบทส่งท้าย ผู้เขียนได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการศึกษา ประวัติศาสตร์ในฐานะของ “ศาสตร์”(science) ไว้อย่างน่าสนใจมากๆ (ถ้ามีแรงจะมาเขียนครับ)

ปล2. มี blog ภาษาไทยเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ที่ ดี ดี มาฝากด้วยละกันครับ

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ กับการเมืองที่ “ไม่การเมือง”

บทความเรื่อง การเมืองที่”ไม่การเมือง” โดยอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สะท้อนมุมมองความคิดเห็นของฝ่ายขวา กลุ่มพันธมิตรและชนชั้นกลางจำนวนมากที่ว่า การเมืองที่ “ไม่การเมือง” นั้นคือทางออกที่จะนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยของสังคม

อ่านแล้วได้ความว่า การ “ไม่การเมือง” นั้นยังไงก็เป็นการเมืองอยู่ดี  แต่เป็นการเมืองที่พยายามจำกัดขอบเขตการตัดสินใจให้อยู่แค่คนจำนวนน้อย (ซึ่งอาจถูกคัดสรรมาแล้ว)

ผมรู้สึกสนใจว่าอะไรที่ปลูกฝังให้เราคิดว่าการ “ไม่การเมือง” น่าจะเป็นทางออก

อาจเพราะเราถูกเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจากระบอบกษัตริย์เป็นประชาธิปไตย ซึ่งด้วยปัจจัยต่างๆ ก็ทำให้การบริหารไม่ดี ก็เลยอยากหาทางออกอะไรซักอย่าง

แต่ทำไมเราจึงอยากหนีไปในทางที่จำกัดขอบเขตการตัดสินใจอยู่กับคนไม่กี่คน

ถ้าถามว่า ทำไมคนชั้นกลางจำนวนมากขนาดนี้ในปัจจุบันจึงคิดเช่นนี้ ผมก็คิดว่าเป็นเพราะวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ของเรานั้นเอง

วิธีการศึกษาที่ เน้นกล่าวถึงความสุดยอดของมหากษัตริย์แต่ละพระองค์และส่งเสริมความรักชาติรักแผ่นดิน  แต่ดูจะไม่วิพากษ์วิจารณ์ความสำเร็จในระบบแบบกษัตริย์

…แต่มีหลักฐานประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เองก็รู้ดี ว่ามีการแย่งชิงสถานะแห่งอำนาจในการกำหนดการใช้ทรัพยากรกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งในหมู่พวกเจ้านายด้วยกันเอง เจ้านายกับขุนนาง รวมทั้งในหมู่สามัญชนอื่นๆ ด้วย มีทั้งการประจบ, ใส่ไคล้, ยุ่งเกี่ยวไปถึงฝ่ายในของราชสำนัก, จนถึงการลอบสังหาร, ใบปลิว, หรือแม้การจับอาวุธขึ้นก่อการกบฏ แม้แต่การที่ ร.5 ทรงใช้พระปรีชาสามารถในการแย่งพระราชอำนาจที่สูญเสียไปแก่ตระกูลขุนนางบาง ตระกูลในรัชกาลก่อนๆ ก็เป็นที่รู้กันดี

เพราะ “การเมือง” ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการแสวงหาอำนาจเพื่อกำหนดการใช้ทรัพยากรนั่นเอง จะใช้อย่างไร จะให้ใครใช้ จะใช้เมื่อไร ฯลฯ จึงไม่มีสังคมอะไรในโลกนี้ที่ปราศจาก “การเมือง” อันเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งและต่อสู้กัน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น ผ่านการสร้างวัฒนธรรมขึ้นครอบงำ เป็นต้น

แม้กระนั้นความคิดว่า มีสังคมที่ขจัดการเมืองออกไปได้ก็ตาม การเมืองคือปัจจัยขัดขวางการบริหารที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพก็ตาม ยังเป็นความคิดกระแสหลักของฝ่ายขวาในเมืองไทยสืบมา ใช่แต่เท่านั้น ยังรวมไปถึงคนที่ไม่อาจจัดอยู่ในฝ่ายขวาได้ ก็เชื่อทำนองเดียวกัน…

ผมคิดว่าถ้าเราคนไทยได้ทราบข้อมูลดังที่อาจารย์นิธิได้เขียนไว้ในบทความข้างต้น เราหลายๆ คนจะมีมุมมองทางด้านการเมืองที่ต่างไปจากปัจจุบัน

ผมไม่มีคำตอบที่ชัดเจน(*)ว่า วิธีการคัดเลือกคนเข้ามาเป็นตัวแทนในกรรมการหรือสภาต่างๆ ของประเทศ  บริบทไหนที่ควรจะการเมืองหรือไม่การเมืองไหน — ขอบเขตการตัดสินใจควรกว้างจะแค่ไหน

แต่ผมเชื่อว่า เราทุกคนจะมีคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นได้ ถ้าเราเรียนรู้อดีต

ปล. ที่จริง, เกี่ยวกับประเด็น 70-30 ของพันธมิตร, ในรายการชูพิชญ์ตอนล่าสุดก็พูดไว้ได้สนใจมากๆ ครับ

(*) ผมไม่แน่ใจจริงๆ ว่าเรื่องการเมืองการปกครองระดับรัฐนั้นควรแค่ไหนที่ การตัดสินใจควรขึ้นกับทุกคน หลังจากได้ทราบข่าวเกี่ยวกับ ยีนการเมืองที่ว่ามียีนบางตัวที่กำหนดความสนใจทางการเมืองของคนๆ นั้นอยู่

มันทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเราให้เฉพาะคนที่มีความสนใจเรื่องการเมืองเป็นผู้ตัดสินใจก็อาจจะดี  คนที่ไม่สนใจเวลาติดสินใจก็คงได้คำตอบสั่วๆ มา ซึ่งกลับจะทำให้ข้อสรุปของส่วนรวมต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เชื่อมั่นว่าทุกคนเท่ากันกลับออกมาทำให้สาธารณะประโยชน์ต่ำลง

ถ้าปล่อยให้คนที่เค้าสนใจมาตัดสินใจ คนที่ไม่สนใจอาจจะสบายใจมากขึ้นด้วย?

ฉะนั้นนี่เป็นคำถามของผมอีกข้อหนึ่ง ระบอบประชาธิปไตยบนเงื่อนไขที่มีทุกคนถูกกำหนดมาว่าสนใจการเมืองไม่เท่ากันอยู่แล้ว นั้นมีประสิทธิภาพดีแค่ไหน