อุปมาอุปไมยชีวิต

การบ้านวิชาศิลปะการใช้ชีวิตครับ ตั้งใจทำมากก็เลยเอามาเป็นบล็อกด้วยเลย

ชีวิตเราไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องใกล้ตัวหรือสิ่งที่อยู่ติดกับคนเรา ชีวิตคือทั้งหมดที่เป็นเรา  แต่ในความจริง มีช่วงเวลาที่คนเราใช้ชีวิตเพียงบางเวลาเท่านั้นที่เราระลึกรู้ถึงความมีชีวิต เวลาอื่นๆ ส่วนใหญ่ของเรามักจะนำความระลึกรู้ไปอยู่กับการทำงาน การสื่อสารและชีวิตประจำวัน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้แม้คนเราจะมีชีวิตอยู่ตลอดเวลาแต่เรากลับไม่สามารถเข้าใจว่าชีวิตคืออะไรได้อย่างน่าขัน ผมเองก็ถือเป็นคนน่าขันผู้หนึ่งเช่นกัน

ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา ผมพยายามทำความเข้าใจความจริงในหลายๆ แง่มุมผ่านความคิด “ชีวิตคืออะไร” นับเป็นความถามหนึ่ง  ผมไม่แน่ใจว่าความจริงนั้น ที่จริงแล้วซับซ้อน หรือว่าเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง แต่ผมเชื่อว่าวิธีเข้าใจถึงความจริงที่ดีวิธีหนึ่งคือวิธีแบบวิทยาศาสตร์ นั้นคือการจับเอาสิ่งที่เราพยายามทำความเข้าใจมาอยู่ในกรอบที่ดูเรียบง่ายกว่า ลองเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านกรอบนั้นว่าได้ผลตรงกับการสังเกตเห็นนอกกรอบหรือไม่ ตราบใดที่ผลการทดลองยังได้ผลตรงกันอยู่แสดงว่าเราสามารถพูดถึงกรอบนั้นแทนความเป็นจริงได้

ผมพบว่ามีกรอบๆ หนึ่งที่ใช้อธิบายแง่มุมต่างๆ ของชีวิตได้ดี ด้วยความที่เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน หลากหลาย ถูกสร้างขึ้นผ่านวัตถุดิบ ร่วมกับจิตสำนึกรวมไปถึงจิตใต้สำนึก สิ่งที่ผมกล่าวถึงคืองานจิตรกรรม

ถ้าชีวิตเป็นตัวงานจิตรกรรม สิ่งที่เป็นตัวกำหนดชีวิตหรือความคิดนั้น ย่อมคือสีสันต่างๆ ที่ผสมกันบนถาดสี  ถาดสีที่ดีนั้นควรจะเป็นถาดที่บรรจุเนื้อสีพอสมควร และมีจำนวนสีที่หลากหลายเพียงพอที่จะสะท้อนความต้องการของศิลปินออกมาได้  การที่เนื้อสีมีอยู่น้อยก็เปรียบเหมือนการมีความคิดความอ่านที่สะสมมาน้อย เมื่อถูกสีจากที่อื่นมาปนเปื้อนเข้าก็ย่อมเปลี่ยนสีไปอย่างง่ายดาย การที่เราศึกษาหาความรู้ในเรื่องต่างๆ อย่างลึกซึ้งย่อมทำให้ถูกชักจูงไปตามกระแสต่างๆ ทั้งจากคนอื่นและตัวเองได้ยาก  อย่างไรก็ตาม การสะสมความรู้ความเข้าใจแต่มีขอบเขตเพียงในวงแคบก็เปรียบเหมือนถาดสีที่มีสีอยู่เพียงโทนเดียว หากเปรียบความรู้ทางคณิตศาสตร์เป็นสีเขียว นักคณิตศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากๆ ก็จะสามารถสร้างสรรค์งานจิตรกรรมสีเขียวต่างๆ ของต้นไม้โดยเจาะละเอียดจนเห็นทุกเส้นใยของสีใบไม้ทุกใบในป่า แต่อาจไม่สามารถสะท้อนความงามใต้ท้องทะเลหรือสีสันอันหลากหลายของปลาตัวเล็กมากกมายที่มีอยู่ คนที่มีสีสันให้เลือกระบายมากเท่านั้นจึงจะเป็นผู้สะท้อนความจริงที่หลากหลายออกมาได้

เราทุกคนล้วนมีความต้องการพื้นฐานต่างๆ ที่เป็นแรงขับให้เรากระทำสิ่งต่างๆ  ในทำนองเดียวกับศิลปินที่มีแรงบันดาลใจที่จะต้องระบายสีออกมา ผลงานชีวิตที่ออกมาจะมีคุณภาพเพียงใดส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับสีมีมีอยู่ในถาดหรือความคิดนั้นเอง  มีผู้กล่าวว่างานศิลปะที่ดีคืองานที่จรรโลงใจของผู้ชม ผมเชื่อว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่จรรโลงสังคมให้ดีขึ้นเช่นกัน

งานศิลปะที่ดีนั้นมีจุดร่วมที่สามารถสรุปออกมาเป็นหลักการหลวมๆ ได้ เช่น ต้องมีสมดุล มีจุดเด่นที่ดึงสายตา มีความเรียบง่ายพอให้คนดูไม่สับสน และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีแก่นความคิดที่ดีที่จะสื่อออกมา ชีวิตที่ดีก็เช่นกัน นั้นคือต้องดูแลรักษาสมดุลในแง่ต่างๆ ของชีวิต เช่นเรื่องครอบครัวและการทำงาน ไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน และพยายามสื่อสารความคิดที่ดีให้กับสังคม โดยจะทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าเป็นคนที่มีชื่อเสียงเป็นจุดสนใจ

อย่างไรก็ดี หลักการของงานศิลปะที่ดีนั้น ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการสร้างงานศิลปะ ยังมีรูปแบบมากมายไม่จำกัดที่สามารถสร้างสรรค์งานที่แม้จะหลุดจากหลักการที่เคยมียังคงความน่าทึ่ง ผมนึกถึงผลงานของปิกัสโซและผมเชื่อว่าศิลปินสิทธิ์เต็มที่ที่จะระบายภาพใดๆ ลงในผืนผ้าของตัวเอง ชีวิตของคนแต่ละคนสามารถมีสมดุลในระดับที่ต่างกันไปหรือบางคนก็ไม่ต้องการมีชื่อเสียง แม้ผมคิดว่าการสื่อสารความคิดที่ดีให้กับสังคมเป็นเรื่องที่ดี แต่การสร้างสูตรสำเร็จตามความเชื่อของตัวเองแล้วบังคับให้สังคมยึดตามนั้นทำให้สังคมขาดความหลากหลาย เพราะขาดการพยายามคิดสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ ที่ดีกว่า

งานศิลปะใดๆ แม้จะมีวัตถุดิบหรือความรู้ความคิดที่เพรียบพร้อม แต่ก็ยังออกมาเป็นงานที่ดีไม่ได้ถ้าขาดการวางแผนและความเชี่ยวชาญ ซึ่งคือการใช้จิตสำนึกและจิตใต้สำนึกในการทำงาน  งานจิตรกรรมที่ขาดการวางแผนวางองค์ประกอบย่อมเป็นงานที่ไม่สมดุลหรือาจสื่อความคิดได้น้อย เราสามารถเห็นการวางแผนที่ชัดเจนได้ผ่านงานแนวมินิมอลลิซึ่ม อย่างไรก็ตามการวางแผนในทุกลายเส้นที่จะวาดนั้นย่อมเปลืองเวลาและพลังงาน การมีความเชี่ยวชาญหรือใช้จิตใต้สำนึกในการทำงานไปโดยอัติโนมัติจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่นเดียวกันกับชีวิตที่นอกจากควรมีความคิดความอ่านที่ลึกซึ้ง ยังควรมีสติรู้ตัวว่ากำลังอยู่ในสถานะใดและจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร และยังจำเป็นต้องฝึกทักษะในแง่ต่างๆ ให้เชี่ยวชาญเผื่อให้สามารถทำงานได้รวดเร็ว กระนั้นบางครั้งความเชี่ยวชาญก็ทำให้เราเผลอทำตามความเคยชินจนต้องตามแก้ เราจึงต้องหาสมดุลระหว่างการวางแผนและความเชี่ยวชาญ

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นความพยายามมองชีวิตผ่านกรอบของงานจิตรกรรม แต่โดยส่วนตัวนั้นผมเชื่อว่าชีวิตก็คือชีวิต เราไม่สามารถแสดงโลกที่เป็นรูปทรง 3 มิติมาเป็นบนผืนผ้า 2 มิติให้ครบทุกแง่มุมฉันใด การฉายภาพชีวิตลงบนงานจิตรกรรมย่อมไม่สมบูรณ์ฉันนั้น

update: แนวคิดเรื่องผสมสีนั้นที่จริงผมได้เคยเขียนไว้ตั้งแต่เอนทรี่ผสมสีความคิดครับ มันเป็นแนวคิดจากป่านนั้นเองครับ ตอนนั้นกำลังคิดเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้วพอได้อ่านงานของป่านก็รู้สึกปิ๊งขึ้นมาเลยแล้วก็เก็บไว้ในใจมาตลอด

โลกนี้ดีกว่าที่เรามอง

พอเห็นใครดูแย่กว่าเรา เราก็จะประเมินเขาต่ำกว่าความเป็นจริง
พอเห็นใครดูเก่งกว่าเรา เราก็จะประเมินเขาต่ำกว่าความเป็นจริง

ผม”เชื่อเอา”ว่าคนเราเป็นแบบนี้อ่ะครับ

ที่คิดแบบประโยคแรกเพราะ เห็นว่าคนเราเวลามองคนติดยา สูบบุหรี่ หรือเจ้าชู้  ถ้าตัวเองไม่มีประสบการณ์นั้นมาก่อนจะมองว่าคนที่ทำนี่แย่มากทำเข้าไปได้ยังไง ทั้งที่จริงๆ ระยะห่างของการทำ/ไม่ทำนั้นมันก็สั้นๆ ก้าวเข้าไปลองแล้วจะรู้ว่า อืม… คนที่ทำกับไม่ทำนั้นต่างกันด้วย กำแพงที่คนไม่ทำนั้นสร้างขึ้นมาเอง (ติดยาสูบบุหรี่ เป็นตัวอย่างที่คนค่อนข้างมองแบบเดียวกัน  แต่มันยังมีเรื่องที่ก่ำกึ่ง บางคนมองว่าดี บางคนว่าไม่ แล้วก็มาเหยียดกันเอง ทั้งในแง่ศีลธรรมหรือการเมือง)

ที่คิดแบบประโยคหลัง ส่วนหนึ่งก็ชัดเจนขึ้นหลังจากที่ฟังพี่ป๊อกพูดเรื่อง Dunning-Kruger effect ใน ComKUCamp คำพูดที่ว่า “Incompetent individuals tend to overestimate their own level of skill.” สำหรับผมมันก็กลายๆ ได้ว่า เรามองคนที่เก่งกว่าเรามากๆ ว่าไม่ได้ต่างจากเราขนาดนั้น   …อีกส่วนหนึ่งที่คิดแบบนี้นั้นเป็นความเชื่อในลักษณะเดียวกันตั้งแต่ตอนเล่นโกะแค่มันไม่ค่อยชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ถ้าคนเราเป็นแบบนี้จริงๆ ความจริงเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแย่หรือเรื่องดี ข้างใดข้างหนึ่ง

พูดถึงฝั่งแรก เรื่องแย่ที่ชัดเจนอยู่ก็คือ คนเราอาจจะเข้าใจกันผิดๆ พอมองคนที่ระดับต่ำกว่าเรา เราจะมองเขาห่างจากเรามาก จนเราไม่พยายามเข้าใจเลย  พอมองคนที่ระดับสูงกว่าเรา เราจะมองว่าเขาอยู่ในระดับใกล้กับเรา อาจจะเอาวิธีคิดที่เราคิดไม่ถึงมา oversimplify ให้เราเข้าใจได้

แต่มันก็มีเรื่องดีเหมือนกัน เพราะมันทำให้เราจะตัดสินใจพุ่งขึ้นไปเพราะคิดว่าข้างบนอยู่ไม่ไกล และไม่ยอมลดระดับเพราะคิดว่ามันต่างจากเรามากมาย ก็ยังดีครับ มันทำให้แต่ละคนมุ่งพัฒนา (เพียงแต่มันไม่ใช่มุ่งร่วมมือกันพัฒนา)

ลองวิเคราะห์ดู ที่เรามองโลกแบบนี้ก็เพราะว่าเราต้องการมี seft-esteem (ขั้นที่ 4 ใน Maslow’s Law) การที่คนเรานั้นไม่มีเรื่องให้เรานับถือตัวเองขึ้น ทางเดียวที่ทำได้อาจจะเป็นลดระดับทั้งโลกลง

ในทางกลับกัน ถ้าเราพอจะมี seft-esteem อยู่จากแหล่งอื่น เราก็คงจะมองทะลุภาพลวงตานี้ได้ แล้วก็จะมองเห็นความเก่งกาจที่หลากหลายเต็มไปหมด เลิกมองว่าคนในโลกมันแย่เหลือเกินเพราะเราก็ไม่ต่างจากเขาเท่าไหร่ แล้วก็เริ่มอยากร่วมมือกับโลกแล้วสร้างสรรค์อะไรที่ดีขึ้นมา 🙂

ฟังความอ่อนแอ

การวาดภาพ การเล่นดนตรี การแต่งกลอน
สำหรับผมที่อาจไม่ได้ทำอะไรพวกนี้ได้ดีเด่นสักเท่าไหร่
จุดร่วมการทำงานพวกนี้ ที่ผมชอบอย่างนึงก็คือ
มันเป็นช่วงเวลาที่ได้นั่งฟังความรู้สึกต่างๆ มันถ่ายทอดตัวเองออกมา
จากสิ่งที่ไม่มีตัวตน กลายเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมขึ้นนิดหน่อย
ผมว่าสิ่งที่กลอนครั้งนี้จะถ่ายทอด
ก็คงคือ
เศษเสี้ยวหนึ่งของรูปธรรม
ของความอ่อนแอ

อยากให้เธอปลอบใจ
กอดเธอไว้ให้หายเหงา
รอบตัวมีเพียงเงา
ที่ไอเศร้าลอยระเหย

ฉันรู้มีเพียงฉัน
ทุกทุกวันที่ผ่านเลย
ซึมซึม ณ อกเอย
คล้ายเฉยเฉยจริงอ่อนแอ

ฉันเข้าใจว่าฉันไหลล่องลอย
กลางกระแสฟองฝอยของความหวัง
แลความเห็นแก่ตัวความชิงชัง
แม้ได้ยินไม่เคยฟังโอ้คนเรา

โอ้ฉันเอยเคยไหมฟังผู้คน
ที่ดิ้นรนและสับสนและยึดเสา
มัวคิดว่าเข้าใจกลายเป็นเรา
ที่ไม่ฟังใครเขาเลยสักคน

อันชีวิตยิ่งคิดยิ่งไม่เห็น
คิดไม่เป็นภาพที่เห็นยิ่งสับสน
คิดเป็นแล้วจึงรู้ให้เพียงรู้ตน
เมื่อรู้ทุกข์ว่าคือตนคงจบเอย

อะไรอยู่ในใจ

อะไรอยู่ในใจ    ฉันหาไม่รู้ตัวเอง
ครวญคิดจิตครื้นเครง    เพียรกระจ่างซึ่งสิ่งสรรพ์

คืนวันฉันค้นหา    เว้นเพียงว่าที่ใจฉัน
อาจบางทีคืนวัน    จะกร่อนฉันจนกลวงเปล่า

มองโลกด้วยตอนนี้    รู้สึกดีคล้ายดวงดาว
กลับยามอารมณ์เร้า    จนคล้ายเห็นเพียงฟ้าดำ

มองใจที่โอนเอน    ควรทำเช่นใดโอ้กรรม
เพื่อรู้ทันใจทำ    เพื่อกระจ่างซึ่งตัวเอง

ทำไมรู้สึก

จินนี่ : ทำไมคนตายแล้วต้องเสียใจ เสียใจเพราะอะไร…
จินนี่ : เราเสียใจที่ไม่ได้เจอกันอีกแล้ว หรือเพราะอะไรอีกอะ

อิ๊ก : ไม่ที่พึ่งทางตรงก็ทางอ้อมอะ
อิ๊ก : ถ้าไม่ใช่ที่พึ่งพา คนเราก็คงไม่เสียใจเท่าไหร่
อิ๊ก : มันจะเป็นความคิดแบบอุดมคติมากกว่า
อิ๊ก : แบบเวลาดู nuclear ลงแล้วหดหู่ที่คนตายเยอะ
อิ๊ก : (ที่จริงที่คนรู้สึกแย่ ก็อาจจะเพราะคิดอยู่ว่า ถ้าตัวเองโดนแบบนี้แล้วก็แย่เลย เลยรู้สึกแย่)

จินนี่ : อืมม… ความเศร้าเสียใจมีเหตุผล
จินนี่ : แล้วความเกลียดกับความรักมีเหตุผลเปล่านะ

อิ๊ก : เราว่าทุกความรู้สึกมีเหตุผล(คืออธิบายที่มาที่ไปได้)หมดแหล่ะ
อิ๊ก :
เมื่องั้นธรรมชาติคงไม่พัฒนามันขึ้นมาหรอก
อิ๊ก :
แต่ถึงงั้น.. เราไม่จำเป็นต้อง ไม่อิน กับความรู้สึกของเรา
อิ๊ก : (อย่างความรักเงี้ย) เพราะเรารู้สึกจริงๆ
อิ๊ก : ความมีที่มาที่ไปมันพัฒนาไปให้เป็นความรู้สึกอัติโนมัติแล้ว
อิ๊ก : หรือความเสียใจ ความเกลียด จะทำให้หายไปด้วยเหตุผลก็ยาก
อิ๊ก : ความรู้สึกมันต้องลบด้วยความรู้สึก

ก็เป็นบทสนทนาที่ดูคมดีครับ ฮา… ประเด็นที่จะบอกก็คือ ผมเชื่อว่าทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นมานั้น
สามารถอธิบายได้ด้วยการเพิ่มอัตราการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์เสมอ

มีความรู้สึกอะไรบ้างไหม ที่อธิบายด้วยเหตุผลนี้ไม่ได้… ช่วยบอกมาหน่อยสิครับ

โคตรรู้สึกว่า โลกของเรามีความหวัง

เพิ่งอ่าน คนชายขอบ จบไปอีกคน
ทุกๆครั้งที่อ่าน ก็จะรู้สึก มีความหวัง สำหรับโลกที่เป็นอุดมคติทุกครั้ง
มันมี model มากมายจริงๆ ครับ ที่มนุษย์เราจะสามารถทำสิ่งดีๆ ให้กันได้ โดยไม่ต้องมาคำนึงถึงการแข่งขันทางเศรษฐกิตแค่มิติเดียว

ผมคิดว่า โลกเรากำลัง ดำเนินมาถึงช่วงเวลาที่ เราจะเริ่มทำอะไรซักอย่าง หลังจากเพิ่งรู้สึกตัวถึงความโหดร้ายของ การมองแต่ด้านเศรษฐกิจด้านเดียว

ท่ามกลางเสียงบ่นว่าโลกมันแย่ คนเดี๋ยวนี้มันเลวลงๆ ทุกที
ผมกลับรู้สึกว่าผมกำลังเห็นแต่อะไรดีๆ กำลังเกิดขึ้นๆ ที่จะทำให้โลกมันโคตรน่าอยู่
อย่างที่บอก ผมพบว่ามี model องค์กรมากมายที่ช่วยลดความไม่เสมอภาคด้านต่างๆ อย่างมีความคิดสร้างสรรค์ มันน่าสนุก มันเจ๋ง มันเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันที่สำเร็จอย่างงดงาม (ลองไปอ่านใน คนชายขอบ ดูเอง)

ผมได้รู้ว่า มีคนอย่าง บิล เกตต์ ที่ตั้งมูลนิธิสุดยอดขึ้นมา ที่ตั้งใจช่วยเหลือด้านสุขภาพคนด้อยโอกาสที่มีอยู่ทั่วโลก (และคนดีๆ อื่นๆ อีกมาก)
หรือ โปรแกรม Open Source มันเป็นอะไรที่สุดยอดมากๆ ครับ มันเป็นการร่วมมือกันฟรีๆ ของสมองของคนเก่งมากมาย
หรือ wikipadia ที่กลายเป็นสารานุกรมที่เจ๋งที่สุดในโลกไปแล้ว

คนเราไม่แล้งน้ำใจหรอกครับ ผมว่า
น้ำใจมันมีอยู่เต็มไปหมดเพียงแค่ต้องการ “ทาง” สำหรับมอบให้ และขณะนี้ “ทาง” กำลังเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น และอย่างประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวมาถึงในขณะนี้

เมื่อวานผมบันทึกในไดอารี่ไว้ว่า ชีวิตนั้นก็เปรียบได้เหมือนเล่นเกม
บางคนเล่นเพื่อชนะ บางคนเล่นเพื่อเก็บค่าประสบการณ์ให้เยอะที่สุด บางคนเล่นเพื่อแค่ให้อารมณ์ดีมีความสุข
และบางคนก็พบว่า ที่เล่นมาตลอดมันไม่ได้มีสาระใดๆ เลย

ที่จริง แม้ผมก็รู้สึกว่ามันก็ไร้สาระจริงๆ
แต่เวลาไปเจอว่า มันมีคนตั้งเยอะที่ถูกโกงอยู่จนย่ำแย่ ถ้าเราได้ใช้เวลาที่มีอยู่ของเรามาช่วยเค้า(ที่ถูกบังคับให้เล่นเกมนี้)สักหน่อย เราไม่อยากทนดูอีกต่อไป
มันก็อาจจะทำให้เรารู้สึกว่าใน ช่วงเวลาชีวิตสั้นๆ ที่ดูเหมือนไม่มีความหมายนี้ มีความหมายขึ้นมานิดนึง

ปล. มุมมองความรักจาก นิยายรักที่ดำมืดที่สุด ของอาจารย์มะนาว โดน!

เรื่อยๆ ช่วงปิดเทอม

ผมจะทำอย่างไรให้มีชีวิตที่สมดุล
บางครั้งผมรู้สึกว่า ที่กำลังทำอยู่นี่ มันเสียเวลา ไม่คุ้มค่าถ้าเอาความสามารถที่มีอยู่ไปทำอย่างอื่นอาจจะคุ้มกว่านี้
บางครั้งผมรู้สึกว่า สำคัญคือตอนนี้เรามีความสุขดีมากกว่านะ
บางครั้งผมคิดว่า เราอาจไม่จำเป็นต้องคิดมากกับชีวิตที่แสนสั้นนี้
ในทางตรงข้าม บางครั้งผมคิดว่า ที่ทำอยู่มันคุ้มแล้วกับการลับความสามารถ หรือบางครั้งรู้สึกมีความทุกข์ และบางครั้งก็คิดว่า เราต้องคิดมากกับชีวิตซะหน่อยนะ
เฮ้อ.. เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย
การจะหา ความสมดุล ให้ชีวิจนั้นมันยากเย็น แม้ถ้าอยากเท่ก็แค่บอกว่า สมดุลที่อยู่ใจเรา ก็จบ ฮา…

การได้เข้าค่าย JSTP เป็นประสบการณ์ที่ดี ได้พบคนหลายๆคนที่เป็นคนที่มีไอเดียด้านการทดลองวิทยาศาสตร์ ที่อยากจะทำ
การคัดคนเข้าโครงการนี้ คือการสัมภาษณ์เท่านั้นเอง ซึ่งก็เจ๋งดีนะ คือดูที่ความคิดเอา
แต่ก็อาจจะมีช่องโหว่ของการคัดเลือกก็คือ คนที่เข้ามาบางคน ก็คือคนที่เป็นแต่โม้แบบฉะฉาน โดยที่สมองไม่ได้บรรจุอะไรซักเท่าไหร่ (อาจคือผม)
กิจกรรมในค่ายนี้ เหมือนไปพักผ่อนหย่อนใจ มีอาหารอุดมสมบูรณ์ สบายใจอ้วน

นอกจากนี้ก็มี ขบวนค่าย Cubic ทั้งหลาย
สำหรับ Cubic-O 2nd นี้ แม้ซ้อนทับกับเวลาค่าย JSTP แต่ทุกอย่างก็ยังอำนวยให้ผมสามารถเข้าไปช่วยนิดช่วยหน่อยได้
ประทับใจนะ ค่ายนี้ สำหรับเด็กคอม และเด็กฟิ(ม.ต้น)ที่ผมได้ไปสอนฟิสิกส์นิดนิด และโม้มากมาก
สำหรับค่าย ICT Fun Camp 4th เป็นค่ายที่ผมมีความสุขมาก เพราะว่าได้ทำอะไรในสิ่งใหม่ๆ ทั้งอัจฉริยะข้ามวัน สอนเกร็ดIT ระบบแลกรางวัลRoute Card และกิจกรรมเข้ารหัสรัก.. ปักหัวใจ แค่นึกก็รู้สึกดีที่ได้สร้างสรรค์อะไรขึ้นมาแล้ะ
ตอนนี้ I want ทำ MV หรือหนังสั้นสุดๆเลย ใครมาอ่านแล้วอยากบ้าทำด้วยบอกเลยนะ I WANT!! ครับ

ปล. เลิกรับ a day แล้ะ เพราะคอลัมน์ที่ติดตามมีแค่ โลกจิต ของแทนไทเท่านั้นเอง สมัคร way แทนดีกว่า
ปล.2 การคิดถึงใครทุกๆ นาที มีอยู่จริงแฮะ

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้อยากมีชีวิตต่อไป

บางครั้ง ผมรู้สึกดีใจที่ได้เกิดมา หลังจากได้ดูหนัง อ่านนิยาย หรือการ์ตูนที่เรารู้สึกประทับใจมากๆ จบ
เคยเป็นไหมครับ

บางทีผมรู้สึกว่า ถ้าพ่อ-แม่-พี่ตายไปแล้ว ก็ดูจะไม่มีเหตุผลที่จะต้องมีชีวิตอยู่เท่าไหร่
เหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป อาจจะเป็นแค่ความหวังที่ได้เจอกับ อะไรประทับใจๆ แค่นั้นเอง

…ที่จริงแล้ว มันก็ไม่ใช่แค่ “แค่นั้นเอง”
สิ่งที่ประทับใจ เป็นสิ่งที่ตื้นตันและเติมเต็มในความรู้สึก ไม่ว่าจะซึ้ง เศร้า เหงา หรือ สุข มันก็เป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมบรรยายไม่ได้ และความรู้สึก เป็นสิ่งเดียวที่มีบ่งบอกว่าเรามีอยู่จริง

เหตุผลของการอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปของผมแบบนี้ เป็นเรื่องไม่เป็นเรื่องที่ดูงี่เง่าหรือเปล่า
หรือผมจะเป็นคนที่ด้อยโอกาสที่จะได้เจอกับเหตุผลที่จะทำให้อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

แต่ผมว่าก็น่าจะมีหลายคนเป็นแบบนี้?
ก็มันดูคล้าย การตามหารักแท้เลยนี่นา

อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป

วิถีชีวิตของผมเปลี่ยนไปหลังจากเข้าสู่มหาวิทยาลัย
ก็อะไร ๆ มันช่างไม่เหมือนเดิมเอาซะเลย

ผมเดินทางมาเรียนในแต่ละวัน ด้วยความสบายใจและไร้ซึ่งภาระหน้าที่อื่น ๆ โดยสิ้นเชิง นอกจากการ–เดิน–เข้าไป–นั่งฟัง–อาจารย์พูดในห้องเรียน

ไม่มีการ list ลงในบันทึกกันลืมแต่ละวันว่า ตอนเช้าต้องรีบปั่นอะไรบ้าง พอถึงพักดื่มนมต้องไปติดต่อสั่งงานชมรมกับคนกี่คน ตอนเที่ยงต้องไปหาใคร  ก่อนกลับบ้านอย่าลืมซื้อของกลับไปทำงาน ฯลฯ
โปรแกรม onenote ที่ผมใช้เป็นประจำสำหรับวางแผน ทั้งงานการบ้าน งานกิจกรรมโรงเรียน งานชมรม และเรื่องส่วนตัว ว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลังในเวลาว่างที่มีแสนจำกัดในวันรุ่งขึ้น นั้นว่างการใช่งานมานานพอสมควรแล้ว

ผมว่างขึ้นมาก ในแต่ละวันมีเวลาให้นั่งเล่น “เลี๊ยบตุ่ย” — การละเล่นประจำคณะวิศวะเกษตร — อย่างน้อยวันละ 1 ชม. อย่างสบาย ๆ (แต่หลังๆมานี้ก็เริ่มเล่นจนเบื่อแล้ว)

ผมไม่รู้เหมือนกันว่าแบบนี้มันดีหรือเปล่า
บางครั้งผมรู้สึกเสียดายเวลาที่เสียไปอย่างเปล่าดาย เหมือนปล่อยเวลาให้ลอยไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับชีวิตในโรงเรียนที่ทำให้ผมได้พัฒนาความสามารถด้านต่างๆมากมาย  เหมือนกำลังเดินถอยหลังอยู่ยังไงยังงั้น

แต่บางครั้งผมก็รู้สึกดีมาก ๆ เอามาก ๆ เลยกับการทิ้งเวลาไปเช่นนี้ โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ
อาจจะเป็นเพราะความรู้สึกเก็บกดจากการทำงานหนักตลอดช่วง ม.6 นั้นหนักมากจนไม่มีเวลาให้กับตัวเองเลย นึกถึงเวลานั้นจากเวลานี้ผมยังจำความรู้สึกเหนื่อยที่แย่ที่สุดได้อยู่เลย และที่สำคัญผมหยุดไม่ได้เพราะตำแหน่งนั้นค้ำคออยู่ว่าเป็นประธานชมรม  ซึ่งตอนนั้นถ้าผมหยุด ทุกอย่างก็จบ

(ถึงอย่างไรก็ตาม เรื่องชมรม ผมคิดว่ามันเป็นประสบการณ์ที่สุดยอดที่สุดในชีวิต การทำหน้าที่ประธานชมรมนั้น ได้ฝึกอะไรให้กับผมมากมาย มากจริงๆ ทำให้รู้ตัวว่าผมเองไม่ใช่คนที่ชอบการเป็นผู้นำ การเรียนและกิจกรรมในโรงเรียนนั้น …ผมไม่คิดว่าจะเกินความจริงถ้าบอกว่ามันเทียบกันไม่ได้เลย แม้กิจกรรมในโรงเรียนในดีมากๆเช่นเดียวกัน)

แต่ผมคิดว่าคงจะสามารถปรับตัวและจัดเวลาชีวิตได้ดีขึ้นในเร็วๆนี้ และที่สำคัญ
อย่างมีความสุข

การเรียนในมหาวิทยาลัยนี้ แตกต่างกับการเรียนในโรงเรียนอยู่พอสมควร
ที่แตกต่างกันจนผมตกใจตั้งแต่ในชั่งโมงแรกก็คือ เกณฑ์การให้คะแนน อย่างเช่นวิชาเลขนี้ให้น้ำหนักกับคะแนนสอบ 100% เต็มเลยทีเดียว วิชาอื่นๆแม้จะไม่ 100% แต่คะแนนสอบก็จะมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 80% (อันนี้ต้องบอกไว้ก่อนว่าผมหมายความถึงแค่ คณะวิศวะเกษตรนะครับ ผมไม่รู้ของที่อื่น)
และวิชาบางจะไม่มีการบ้านเลย ซึ่งนั้นทำให้ผม ต้องหาแบบฝึกหัดมาทำเอง และทำข้อสอบปีก่อนๆสำหรับเตรียมสอบ
ซึ่งผมครั้งแรกในชีวิตผมเลย ที่ทำขนาดนี้
ซึ่งก็ ok
ซึ่ง… เหนื่อยเหมือนกัน
ซึ่ง… ก็มันดี
ซึ่ง…
ซึ่ง…
ซึ่ง…
(พอแล้ะ ไม่คิดออก)

ผมกลายเป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนมากๆ จนอดแปลกใจไม่ได้เมื่อเทียบกับตัวเองในตอน ม.ปลาย จากที่อาศัยอ่านก่อนสอบ 1 คืนหรือ 1 พักก่อนสอบกลายมาเป็นคนที่ตั้งใจจดเวลาเรียน ว่างเวลาอ่านหนังสือและทำแบบฝึกหัดเพิ่มเติม บางครั้งผมหาความรู้นอกบทเรียนจากพวก เว็บ wikipedia mathworld หรืออ่านบทความดีๆจากเว็บ onopen

ลองมองตัวเองใหม่ ผมก็ไม่ได้ทิ้งเวลาให้ว่างอะไรนี่นา อืม…
ใช่แล้ว ผมเป็นเด็ก nerd เลย 555 แต่ผมไม่รู้สึกว่าแย่อะไร ผมรู้สึกชอบวิชาที่ผมเรียนอยู่มาก  เลขนั้นสนุกสุดๆแม้ว่ามันจะเรียนแบบเน้นแค่การนำไปทำโจทย์เพื่อประยุกต์ใช้ในวิชาวิศวะอื่นๆต่อไป ไม่ได้พิสูจน์อะไร หรือเรียนลึกแบบจุฬา แต่ก็ชอบมากอยู่ดี
ฟิสิกส์แบบใช้ calculus ก็ทำให้วิชานี้เจ๋งมากๆ

พูดถึงวิชาฟิสิกส์นั้น ผมคิดว่าการเรียนการสอนวิชานี้ในมหาวิทยาลัยดีกว่าที่เรียนในโรงเรียนค่อนข้างมาก
ฟิสิกส์ในโรงเรียนนั้น แม้จะให้ความรู้ความเข้าใจในวิชาฟิสิกส์มากกว่าสอนทำโจทย์อย่างเดียวแบบในโรงเรียนกวดวิชา แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์สอนเพื่อทำโจทย์อยู่ดี ทุกครั้งที่สอบ ก็จะมีโจทย์มาให้ทำ วิเคราะห์โจทย์ว่าใช้สูตรไหน แล้วแทนค่าลงไป ก็จบ

แต่ในมหาวิทยาลัยนั้น เน้นความเข้าใจว่าอะไรคืออะไร มีที่มาอย่างไร ซึ่งสังเกตได้จากการสอบซึ่ง มักจะมีให้พิสูจน์สูตร และบรรยายทฤษฎีเสมอๆ ยกตัวอย่าง คำถามแรกในข้อสอบ midterm ที่ผ่านมานี้ ถามว่า…
วิชาฟิสิกส์คืออะไร ?
แปลกดี

ทั้งการพิสูจน์สูตร และการบรรยายนั้นผมคิดว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความเข้าใจในวิชานี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ในโรงเรียนไม่มี
แต่ถึงยังงั้นผมไม่โทษโรงเรียนสาธิตเกษตรของเราอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าโรงเรียนคงต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้อยู่แล้ว เพียงแต่…
เพียงแค่ลำพังเวลาจะให้สอนแค่ทำโจทย์นั้นยังจะไม่พอเลย

ถ้าจะหาแพะ ผมคิดว่าแพะตัวนั้นคือระบบการศึกษาครับ ที่บังคับให้ยัดเยียดเนื้อหาเข้ามามากมายโดยการออกข้อสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยแบบหฤโหด แล้วนักเรียนไทยเราก็เรียนรู้แบบเปลือกๆกันไป เจริญดี!

อีกหนึ่งเรื่องเกี่ยวกับการเรียนในมหาวิทยาลัยก็คือ ผมไม่ได้ทำอะไรด้านอื่นๆนอกจากคำนวณเลย อุปกรณ์งานศิลปะ เครื่องมือของใช้เกี่ยวกับงานประดิษฐ์นั้น อีกไม่นานผมคงจะตัดสินใจย้ายออกไปจากห้องแล้ว รู้สึกเสียดายเหมือนกัน ผมคิดว่าถ้าไม่ได้ทำงานพวกนี้นานๆเข้า มีหวังทำไม่ได้อีกต่อไปแน่ๆ แล้วมันก็รู้สึกประมาณว่า ชีวิตไม่สมดุลยังไงไม่รู้ …กับการที่ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นงานศิลปะเลย

สุดท้าย สิ่งนึงที่ตลกดีเกี่ยวกับวิชาเรียนที่นี้ก็คือ เราจะเรียกวิชาเรียนเป็นแบบตัดคำจากภาษาอังกฤษเสมอ เช่น แม็ทเอ็น(Mathematics for Engineer) ไทยคอม(Thai for Communication) เจ็นเค็ม(General Chemistry) คอมโป(Computer and Programming) ฯลฯ
เรียกแบบนี้กันตลอด และรู้กันว่าคือวิชาอะไร
แต่พอถามว่า Communication แปลว่าไร ดันไม่รู้ -_-”
ซะงั้น 555

ถึงเวลานี้ผมรู้สึกตัดสินใจถูกและมีความสุขที่เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรมากๆ เพราะคิดว่าวิชาที่เรียนนั้นยากกำลังพอดีๆ คือต้องฟิตแต่ก็ไม่เกินความสามารถ
ได้ฟัง เพื่อนๆที่เก่งๆที่ไปเรียนวิศวะจุฬา แล้วก็กลัวแทนเลย เห็นบอกว่ายากหฤโหดจริงๆ แบบนั้นคงไม่ไหว

ตอนนี้คะแนนสอบออกมาแล้ว ได้คะแนนดีมาก ดีใจจังเลย อิอิ
คะแนนเพื่อนๆในโต๊ะส่วนใหญ่ก็ดี โดยเฉพาะเพื่อนสาธิตเกษตรก็ดีมากเหมือนกัน
พูดไปแล้วถึงตอนนี้ เพื่อนที่ผมรู้จักส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในโต๊ะโควตาเป็นหลัก แม้จะอยู่ภาคคอมแต่ก็ไม่ค่อยสนิทกับเพื่อนภาคคอม ที่เป็นแบบนี้เพราะ ห้องที่เรียนนั้น เรียนด้วยกันกับคนในโต๊ะ จะมีอีกก็เรียนกับภาคสิ่งแวดล้อม ^_^

ทุกคนอัธยาศัยดีมาก นึกแล้วก็เสียดายอยู่ เค้าบอกว่าพอปีหลังๆไป พอเข้าภาคแล้วก็จะห่างๆกับเพื่อนตอนปี 1 แบบนี้ ไม่อยากให้เป็นแบบนั้นเลยแฮะ
 
อีกเรื่องนึงที่พลาดไม่ได้ ที่จะต้องพูดถึงก็คือ การประชุมเชียร์
การประชุมเชียร์ ก็คือการเข้าไปฝึกร้องเพลงเชียร์ในห้องๆหนึ่ง โดยพี่ปี 4 จะเป็นคนสอน เพียงแต่… องค์ประกอบต่างๆระหว่างนั้น พี่เค้าจะทำหน้าโหดๆ และพูดตะคอกอยู่ตลอด คอยตรวจตราอย่างเข้มงวดในเรื่องการแต่งกาย รุ่นพี่จะพยายามปลูกฝังความคิดบางอย่างที่คิดว่ารุ่นน้องควรมีไว้อยู่หลายๆอย่าง กิจกรรมนี้จะเริ่มหลังเลิกเรียน มีทั้งหมด 8 ครั้ง หลังจากนั้นก็จะเป็นการไปวิ่งกันซึ่งผมก็ไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าเป็นยังไงเท่าไหร่ เพราะวันนั้นไปเข้าค่ายเขียนโปรแกรม แต่ 8 ครั้งที่ไม่ได้วิ่งนั้นเข้าไปครบทุกครั้งเลยทีเดียว

ที่จริงผมก็ไม่อยากเข้าไปเท่าไหร่ แต่ตอนนั้นก็เข้าไปด้วยความรู้สึกอยากรู้ว่ามันจะมีอะไรไหม อีกอย่างคือ เพื่อนๆในโต๊ะโควตาเข้ากันเยอะมากๆ อย่างเพื่อนๆสาธิตเกษตรเรานี้ เค้าครบกันแทบทุกคนเลย ผมก็งงว่าชอบเข้าหรือเห็นความสำคัญกันขนาดนั้นเชียวหรือนี่ โดยเฉพาะช่วงหลังๆ เปิ้ลนี่ไปรณรงค์ในเว็บบอร์ดเลย แก้วเองก็ไม่แพ้กัน แต่ก็ok เข้าก็เข้า ไม่คิดมาก

ถึงแม้จะไม่ค่อยเข้าใจความรู้สึกของคนที่รณรงค์ให้เข้าประชุมเชียร์ แต่ผมเองก็ช่วยกันกับเค้าไปด้วย ก็คือได้เขียนบทความสั้นๆอันนึงขึ้นมาให้คนเข้าไปร่วมกิจกรรมกัน ตอนนี้มันพีกมากๆ เป็นประเด็นว่าจะตัดรุ่นกันแล้วเพราะคนเข้าน้อยเกินไป (ผม copy มาไว้ด้านล่างสุดหลังจบเผื่ออยากอ่านความรู้สึกการเข้าเชียร์)

ตอนนี้มาคิดดู ก็รู้สึกว่า กิจกรรมนี้ก็เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์กับคนที่เข้าอยู่นะครับ แต่ก็ไม่คิดว่ามันแสดงว่าคนที่ไม่เข้าไม่รักรุ่นหรือไม่ดียังไงเลย
ถามว่าอยากจะมีต่อไปเรื่อยๆไหม ผมก็คงบอกว่ายังไงก็ได้ เฉยๆ
แล้วถามว่า กิจกรรมนี้มันอยู่มาได้ยังไง ถ้ามันไม่ดีจริงๆ ผมคิดว่าเป็นเพราะสิ่งที่เราเรียกว่า ประเพณีครับ

พูดถึงประเพณีโดยทั่วๆไป
ผมเป็นคนๆหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยชอบมัน
ประเพณี คือการสืบทอดอะไรบางอย่างต่อๆกันมา ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่ดีงาม
แต่คนที่บอกว่ามันดีงามนั้นคือ “คนริเริ่ม” ส่วนคนหลังจากนั้น ก็เพียงแค่สืบทอดมัน โดยไม่ต้องสงสัย และถ้าประเพณีนั้นเกิดหายไปขึ้นมา นั่นเป็นความผิดของคุณ

ที่ผมไม่ชอบก็คือตรงที่ว่า คนที่คิดว่ามันดีนั้นเป็นแค่คนริเริ่ม ซึ่งมันอาจจะดีจริงๆ ok แต่ประเพณีนั้นแม้จะสืบทอดการกระทำมาเรื่อยๆ แต่เจตนารมณ์ของผู้ริเริ่มกลับไม่ได้รับการอธิบายอย่างจริงจังเท่าใด ซึ่งจุดนี้เป็นกุญแจสำคัญยิ่ง ที่ทำให้อาจเกิดผลร้ายอยู่ 2 ทางคือ
มันอาจจะทำให้มีการตีความหมายเจตนารมณ์ของผู้ริเริ่มและค่อยๆบิดเบือนไปๆ จนกลายเป็นไม่ดี
อีกทางหนึ่งคือการที่ไม่มีการอธิบายว่าทำไมจึงต้องทำตามประเพณีนี้ แม้เจตนารมณ์ของผู้ริเริ่มจะไม่ถูกบิดเบือนไปแม้แต่น้อย แต่บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้การกระทำที่ถือว่าเหมาะสมเกิดผลดีในเวลานั้น กลายไปส่งผลเสียในเวลานี้
นี้แหล่ะครับ คือประเด็นที่ผมเป็นห่วง

แล้วอะไรคือ เหตุผลที่ทำให้ประเพณีคงอยู่มาเสมอ…
เพราะคนเราไม่เคยสงสัย และแค่ทำตามๆกันไปหรือ ? ผมหวังว่าไม่น่าเป็นแบบนั้น  ผมคิดว่ามันคงมีความจำเป็นทางความรู้สึกบางอย่างที่ทำให้คนเราชอบที่จะทำตามประเพณี

ดังนั้น ก็ขอสรุปว่า ถ้าเราจะทำตามประเพณี เราน่าจะนึกถึงคำถามว่า ทำไมเราจึงต้องทำ ซักหน่อย ก่อนที่จะทำเพื่อให้เราได้รับสิ่งที่ดีๆตรงตามที่ผู้ริเริ่มคิดไว้ให้มากที่สุด
(555 เขียนแล้วรู้สึกอย่างกับเป็นนักวิชาการนักวิเคราะห์ด้านสังคมและวัฒนธรรมอะไรประมาณนั้น)
 
เขียนมายาวมากแล้ว
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็น เหตุการณ์และความคิดที่เกิดขึ้น หลังจากผมได้เจออะไรๆมาระหว่างใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยมา midterm กว่าๆ
ไว้วันหลังจะมาเขียนเกี่ยวกับ สรุปสิ่งที่เคยคิดและคิดได้หลังจากอ่านอะไรๆเพิ่มเติมนอกบทเรียนมา

ช่วงนี้ผมกำลังอ่านหนังสือปรัชญา ๆ อยู่ ที่เพิ่งจบไปก็คือ เป็นหนังสือเรียนชื่อ ปรัชญาเบื้องต้น ดีครับ ทำให้รู้ว่าพวกศัพท์วิชาการปรัชญา เหตุผลนิยม ประสบการณ์นิยม อะไรๆ นิยมๆ บ้าๆ บอๆ เต็มไปหมด ที่เค้าพูดถึงคืออะไรกัน และทำให้เข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับปรัชญาหลักๆ ว่า เค้าได้แบ่งสำนักกันเป็นแนวไหนๆบ้างในโลก แล้วสิ่งที่เราเคยคิดมาเป้นแนวคิดแบบไหน และที่อ่านอยู่ตอนนี้เลยก็คือเรื่อง โลกของโซฟี อ่านไปนิดหน่อย ท่าทางจะสนุก(มั้ง)

แล้วก็แนะนำaniamtionเรื่องนึงดูแล้วได้ความคิดดี เรื่อง Ghost in the shell เป็นพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับ อะไรคือชีวิต ในวันที่เทคโนโลยีก้าวไปไกลมากสมองมนุษย์และสมองกลแทบจะคาบเกี่ยวกันเป็นสิ่งเดียวกันนั้น เราบอกได้ว่าเครื่องจักรมีชีวิตเป็นสิ่งมีชีวิตหรือเปล่า อะไรคือนิยามที่ทำให้เราแบ่งแยกได้ว่าอะไรคือมีชีวิต อะไรไม่มี
 
เอาหล่ะ ก็ขอสรุปเลยว่า ที่บอกว่าวิถีชีวิตของผมเปลี่ยนไปหลังจากเข้าสู่มหาวิทยาลัยนั้น อย่างไรก็ตาม…
ผมมีความสุขมากครับ


ชวนเข้าประชุมเชียร์ก็จากที่ดูๆ มาเห็นบอก ให้เข้าเชียร์ๆ
แต่ก็ยังไม่เห็นมีบอกให้ชัดเจนถึงเหตุผลที่ควรจะเข้าเท่าไหร่ เลยอยากมา post ไว้เผื่อจะเป็นประโยชน์เรา(อิ๊ก cpe20)เป็นคนหนึ่งๆ ที่เข้าเชียร์ทุกครั้ง
จากการที่เข้าไปหลายๆครั้ง เราก็คิดว่า เราได้อะไรบางอย่างกับมาด้วยบ้างเหมือนกันนะ…

นั้นก็คือ
1. ความกล้าเป็นผู้นำ เพราะมีวันหนึ่งได้อาสาขึ้นเป็นหลีดนำบูมคณะ ซึ่งเราก็ขึ้นไปนำผิดหมดเลย 55
2. การไม่เยาะเย้ยคนที่อาสา คราวนึงที่มีหลีดขึ้นไปแล้ว กล่าว ขออนุญาติ ผิด จากที่พี่บอกให้ยกมือด้วย กลับยกมือไหว้ คนในห้องก็หัวเราะ แต่พี่ๆเชียร์เค้าก็สวนกลับมาอย่างไวทันควันว่า “หัวเราะอะไร ไม่กล้าแล้วยังหัวเราะคนที่ทำเพื่อเราอีก” ซึ่งก็ อืม… จริงหว่ะ เรามักจะเป็นแบบนี้เสมอเลยแฮะ ตอนนั้นเราก็นับถือพี่ๆขึ้นมาเลยอะ
3. ความเคารพคนที่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิสูงกว่า อย่างที่ พี่ให้ขอบคุณพี่เลี้ยงที่เอาขนมมาให้ ฯลฯ
4. ความอดทนอดกลั้น บางทีที่ไม่ชินกับการถูกตวาด เราก็ได้ฝึกตรงนี้ ซึ่งเราคิดว่าจำเป็นอะ จำเป็นยังไงคิดว่าน่าจะรู้กันดี อนาคตที่เราต้องไปทำงานข้างนอก เราเชื่อว่าคงเจออะไรที่คนอดกลั้นมากๆ และที่สำคัญคือก็มันก็ไม่ค่อยจะมีที่ไหนที่มีโอกาสที่ให้เราฝึกตรงนี้ด้วย
5. เล็กๆน้อยๆ อีกเยอะถ้าอยากจะพูด แต่สำหรับเรา เราคิดว่ามีประเด็นสำคัญที่ เราได้ มีแค่นี้

จากที่ดูใน ที่ list มา ก็อาจจะดูว่า ก็ไม่เห็นจะมีอะไรเท่าไหร่ รู้จักอยู่แล้ว และมีอยู่แล้วพอสมควรด้วย
แต่ความจริง ข้อหนึ่งที่เราคิดว่าต้องยอมรับก็คือ ประสบการณ์การตรง กับ การจำลองประสบการ์ทางความคิด นั้นมันต่างกันลิบลับจริงๆ 

เราเป็น “ทุกข์ใจ” แทนครอบครัวที่โดน ซึนามิ ได้ แต่สิ่งที่คนที่นั่นประสบพบเจอ เค้าคงจะ “สะเทือนใจ” กว่าเราอย่างไม่สามารถเปรียบเทียบ 

เรารับรู้คุณงามความดีของในหลวงแล้วเทิดทูนท่านมากมาย แต่เทียบกับชาวบ้านที่ ในหลวงเสด็จไปหา แล้วก็ได้รับความช่วยเหลือ เปลี่ยนชีวิตให้สุขสบายมากขึ้น ชาวบ้านก็ย่อมเกิด “ความประทับใจ” โดยตรงแบบที่ เราไม่มีทางรู้สึกได้

เช่นเดียวกันนะ… สำหรับการเข้าห้องเชียร์ ความรู้สึกที่ได้จากการเข้าเชียร์จริงๆ กับ การแม้ได้รู้ทุกอย่างละเอียดยิบว่าในห้องเชียร์มีอะไรบ้าง มันก็ไม่มีทางเหมือนกัน

ความรู้สึกของเราตอนที่ เอาวะ! จะไปนำหลีดร้องเพลงแล้วยกมือ
ความรู้สึกตอน ทันทีที่พี่ตวาดกลับมาขณะที่เราหัวเราะตลกหลีดยกมือไหว้
ความรู้สึกตอน โดนว้าก
ความรู้สึกตอน ตะโกนร้องเพลงเชียร์ แล้วรู้สึกอยู่ลึกๆว่า อืมมม! เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน…
ความรู้สึกต่างๆ ที่เราได้รับจากห้องเชียร์นี้ เรารู้สึกว่า มันก็… มีค่าเหมือนกันนะ
และถ้าผ่านช่วงเวลาอีกไม่กี่วันนี้ไป เราก็คงจะย้อนกลับมาหามันไม่ได้อีกต่อไปแล้วด้วย

มาถึงตอนนี้คิดดูแล้ว เราก็ไม่เสียดายเวลาที่เสียไปกับการเข้าห้องเชียร์เท่าไหร่แล้ว และเริ่มคิดว่ามันก็เป็นประเพณีที่ ok นะ
แม้โดยพื้นฐานตอนเริ่มต้น เราก็เข้ามาแค่อยากรู้ว่า มันเป็นยังไง แล้วก็เข้ามาเรื่อยๆเฉยๆ บางครั้งก็ฝืนเข้าเพราะว่า เออ… ถ้าเข้าครบแล้วจะได้เกียร์แฮะ ก็เข้าก็ดี จะได้เกียร์ ส่วนได้เกียร์แล้วไง เออ ไม่รู้เหมือนกัน ก็แค่ก็ดี 555

มาถึงบรรทัด ก็เหลือเวลาเข้าประชุมเชียร์อีก 2 ครั้ง ใครที่เห็นในประเด็นที่กล่าวไปนี้ แล้วสนใจอยากเข้าก็เชิญได้เลยนะ

ส่วนเรื่องที่ว่า ในครั้งหน้านี้ พี่ๆบอกให้ไปกันให้เกิน 500 คน
มีเสียงแว่วขึ้นมาว่า ถ้าไปไม่ถึงจะไม่ได้รุ่น?

ว่าไปแล้ว ถ้าไปกันไม่ถึงแล้วจะไม่ได้รุ่นจริงๆ  ที่จริง เราก็ไม่ได้รู้สึกสำคัญอะไรกับการได้รุ่น ไม่ได้รุ่นอะนะ เพราะจะอย่างไร ความสัมพันธ์ในระดับย่อยต่างหากที่มีน่าจะมีผลกระทบต่อทั้งในอนาคตอันใกล้และไหล ส่วนรุ่นต่อรุ่นนั้นเราไม่คิดว่ามีผลอะไรเท่าไหร่คือ สมมติโดนตัดรุ่น แล้วเป็นยังไง นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะมีผลอะไรกับชีวิต…

แต่ถึงยังไงก็ตาม เรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่อยากจะชวนทุกๆคนให้ช่วยกันมาให้ครบ เพราะมันมีเหตุผลอยู่ที่เราคิดว่ามันสำคัญอยู่มากก็คือ
พวกเราได้สัญญากับรุ่นพี่เอาไว้แล้ว ว่าจะมาให้ถึง…

ใช่ พอรุ่นพี่บอกว่าน้องสัญญาแล้ว อย่าให้คำพูดนั้นเพียงแค่ผ่านไป เราก็รู้สึกว่า มันสำคัญขึ้นมากเยอะเลยแฮะ

สรุปก็คือ การที่รวบรวมคนได้ 500 คนนั้นไปเข้าเชียร์นั้น เราเห็นด้วย แต่ไม่ใช่ด้วยเหุผลที่ว่า เพื่อจะได้รุ่น เพื่อจะได้รับการยอมรับจากรุ่นพี่ แต่เพื่อให้คนที่ได้เข้าไปได้ประสบการณ์ที่เราซึ่งเข้ามาทุกครั้งคิดว่ามันก็มีดีนะ และอีกเหตุผลซึ่งสำคัญขึ้นมาก็คือ คำสัญญาที่เราไม่ควรทิ้งมัน

แต่สุดท้าย ยังมีอีกหนึ่งสิ่ง ซึ่งเราควรเล็งเห็น…

คือการจะรวบรวมคนให้ได้ 500 คนโดยอาสาสมัคร เราคิดว่า มันไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการอาสาสมัครไปสู่ความไม่พึงปรารถนาต่างๆ
เราเชื่อว่าการรวบรวมในครั้งนี้ มันเป็นคล้ายข้อพิสูจน์ของเรา เป็นข้อพิสูจน์ว่า
เราพร้อมที่จะไปด้วยกันหรือเปล่า
เรามีใจที่จะสละเวลาที่(อาจจะมีค่ากว่าของเรา)มาเพื่อคำสัญญาของรุ่นหรือเปล่า
เรามี พลังกลุ่ม ของวิศวะเกษตรรุ่นที่ 62 พอไหม

และถ้าหากว่า เรา วิศวะเกษตรรุ่นที่ 62 สามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง
เราก็คิดว่า..
มันคงเป็นสิ่งที่น่าจดจำ

วันวาเลนไทน์ครั้งแรก

“โตขึ้น ก่อนจบ ม.6 เราจะต้องมีแฟนให้ได้ หึหึ ได้อยู่แล้ว” เด็กประถมคนนึงคิดขึ้น ระหว่างที่เห็นพี่ตัวโตเดินด้วยกันมาเป็นคู่ 2 คน

วันนี้  อีก 3 วันจะจบ ม.6 แล้ว
ผมไม่เคยมีแฟนเลยครับ ฮา… แต่ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยผมก็เคยมีความรัก และยังมีอยู่แม้ในขณะนี้

วันวาเลนไทน์ทุกๆ ปีที่ผ่านมาถ้าพูดถึงตอนยังเป็นเด็กตัวจ้อยนั้น มันไม่มีตัวตนอยู่ด้วยซ้ำ จะเริ่มมารู้สึกตัวก็คงในปีที่เริ่มมีดอกกุหลาบฟ้าคะนองกระจายไปตามพื้นที่ของระดับ ในช่วงนั้น วันวันนี้จะเป็นวันที่ผมรู้สึกตื่นเต้น บางครั้งก็ลุ้นๆ ครับ ผมจำไม่ได้ว่าจะตื่นเต้นและลุ้นไปเพื่ออะไร

บางทีความรักของคนอื่นอาจจะพลอยแผ่ไอความสุขออกมาให้เราพลอยตื่นเต้นไปด้วย…
อย่างไรก็ตาม ทุกปีที่ผ่านมา วันแห่งความรักนี้ ไม่เคยเป็นวันแห่งความรักของผมบ้างเลย

วันนี้ผมให้ของขวัญวันวาเลนไทน์กับผู้หญิงคนหนึ่งไป เป็นของที่ทุ่มเทกับมันมาก ตั้งแต่ออกแบบ ทำเวกเตอร์ เลื้อยแผ่นไม้ เกลา ตัดด้วยเลื้อยไฟฟ้าในส่วนโค้งลึก ขัดด้วยกระดาษทรายเก็บรายละเอียด ระบายสี ซื้อเชือกแขวน ให้สว่านเจาะรูแขวน และขั้นสุดท้ายที่ยากไม่ใช่น้อย ก็คือ นำมามอบให้กับผู้หญิงคนนี้นี่เอง 

ผมไม่เคยทำอะไรแบบนี้เท่าไหร่ครับ บางวันผมทำจนหลับไปเลย ผมคิดว่างานที่เกิดขึ้นด้วยแรงบันดาลใจนั้น ไม่เคยทำให้ล้า แต่ยังมีความสุขอีกด้วย

วันนี้ผมได้เดินไปโรงอาหารด้วย แม้วันอื่นก็เดินไปแต่วันนี้…   ไม่มีอะไรครับ ฮา…
อย่างที่ว่าไป ถึงจะไม่เคยมีแฟน แต่ผมก็มีความรัก
และก่อนจบ ม.6 นี้
ผมก็มีวันวาเลนไลน์ครั้งแรก วันแห่งความรักของผมแล้วครับ

ปล. มันดูเป็นเรื่องเล็กเน่อะครับ