การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ กับการเมืองที่ “ไม่การเมือง”

บทความเรื่อง การเมืองที่”ไม่การเมือง” โดยอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สะท้อนมุมมองความคิดเห็นของฝ่ายขวา กลุ่มพันธมิตรและชนชั้นกลางจำนวนมากที่ว่า การเมืองที่ “ไม่การเมือง” นั้นคือทางออกที่จะนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยของสังคม

อ่านแล้วได้ความว่า การ “ไม่การเมือง” นั้นยังไงก็เป็นการเมืองอยู่ดี  แต่เป็นการเมืองที่พยายามจำกัดขอบเขตการตัดสินใจให้อยู่แค่คนจำนวนน้อย (ซึ่งอาจถูกคัดสรรมาแล้ว)

ผมรู้สึกสนใจว่าอะไรที่ปลูกฝังให้เราคิดว่าการ “ไม่การเมือง” น่าจะเป็นทางออก

อาจเพราะเราถูกเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจากระบอบกษัตริย์เป็นประชาธิปไตย ซึ่งด้วยปัจจัยต่างๆ ก็ทำให้การบริหารไม่ดี ก็เลยอยากหาทางออกอะไรซักอย่าง

แต่ทำไมเราจึงอยากหนีไปในทางที่จำกัดขอบเขตการตัดสินใจอยู่กับคนไม่กี่คน

ถ้าถามว่า ทำไมคนชั้นกลางจำนวนมากขนาดนี้ในปัจจุบันจึงคิดเช่นนี้ ผมก็คิดว่าเป็นเพราะวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ของเรานั้นเอง

วิธีการศึกษาที่ เน้นกล่าวถึงความสุดยอดของมหากษัตริย์แต่ละพระองค์และส่งเสริมความรักชาติรักแผ่นดิน  แต่ดูจะไม่วิพากษ์วิจารณ์ความสำเร็จในระบบแบบกษัตริย์

…แต่มีหลักฐานประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เองก็รู้ดี ว่ามีการแย่งชิงสถานะแห่งอำนาจในการกำหนดการใช้ทรัพยากรกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งในหมู่พวกเจ้านายด้วยกันเอง เจ้านายกับขุนนาง รวมทั้งในหมู่สามัญชนอื่นๆ ด้วย มีทั้งการประจบ, ใส่ไคล้, ยุ่งเกี่ยวไปถึงฝ่ายในของราชสำนัก, จนถึงการลอบสังหาร, ใบปลิว, หรือแม้การจับอาวุธขึ้นก่อการกบฏ แม้แต่การที่ ร.5 ทรงใช้พระปรีชาสามารถในการแย่งพระราชอำนาจที่สูญเสียไปแก่ตระกูลขุนนางบาง ตระกูลในรัชกาลก่อนๆ ก็เป็นที่รู้กันดี

เพราะ “การเมือง” ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการแสวงหาอำนาจเพื่อกำหนดการใช้ทรัพยากรนั่นเอง จะใช้อย่างไร จะให้ใครใช้ จะใช้เมื่อไร ฯลฯ จึงไม่มีสังคมอะไรในโลกนี้ที่ปราศจาก “การเมือง” อันเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งและต่อสู้กัน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น ผ่านการสร้างวัฒนธรรมขึ้นครอบงำ เป็นต้น

แม้กระนั้นความคิดว่า มีสังคมที่ขจัดการเมืองออกไปได้ก็ตาม การเมืองคือปัจจัยขัดขวางการบริหารที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพก็ตาม ยังเป็นความคิดกระแสหลักของฝ่ายขวาในเมืองไทยสืบมา ใช่แต่เท่านั้น ยังรวมไปถึงคนที่ไม่อาจจัดอยู่ในฝ่ายขวาได้ ก็เชื่อทำนองเดียวกัน…

ผมคิดว่าถ้าเราคนไทยได้ทราบข้อมูลดังที่อาจารย์นิธิได้เขียนไว้ในบทความข้างต้น เราหลายๆ คนจะมีมุมมองทางด้านการเมืองที่ต่างไปจากปัจจุบัน

ผมไม่มีคำตอบที่ชัดเจน(*)ว่า วิธีการคัดเลือกคนเข้ามาเป็นตัวแทนในกรรมการหรือสภาต่างๆ ของประเทศ  บริบทไหนที่ควรจะการเมืองหรือไม่การเมืองไหน — ขอบเขตการตัดสินใจควรกว้างจะแค่ไหน

แต่ผมเชื่อว่า เราทุกคนจะมีคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นได้ ถ้าเราเรียนรู้อดีต

ปล. ที่จริง, เกี่ยวกับประเด็น 70-30 ของพันธมิตร, ในรายการชูพิชญ์ตอนล่าสุดก็พูดไว้ได้สนใจมากๆ ครับ

(*) ผมไม่แน่ใจจริงๆ ว่าเรื่องการเมืองการปกครองระดับรัฐนั้นควรแค่ไหนที่ การตัดสินใจควรขึ้นกับทุกคน หลังจากได้ทราบข่าวเกี่ยวกับ ยีนการเมืองที่ว่ามียีนบางตัวที่กำหนดความสนใจทางการเมืองของคนๆ นั้นอยู่

มันทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเราให้เฉพาะคนที่มีความสนใจเรื่องการเมืองเป็นผู้ตัดสินใจก็อาจจะดี  คนที่ไม่สนใจเวลาติดสินใจก็คงได้คำตอบสั่วๆ มา ซึ่งกลับจะทำให้ข้อสรุปของส่วนรวมต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เชื่อมั่นว่าทุกคนเท่ากันกลับออกมาทำให้สาธารณะประโยชน์ต่ำลง

ถ้าปล่อยให้คนที่เค้าสนใจมาตัดสินใจ คนที่ไม่สนใจอาจจะสบายใจมากขึ้นด้วย?

ฉะนั้นนี่เป็นคำถามของผมอีกข้อหนึ่ง ระบอบประชาธิปไตยบนเงื่อนไขที่มีทุกคนถูกกำหนดมาว่าสนใจการเมืองไม่เท่ากันอยู่แล้ว นั้นมีประสิทธิภาพดีแค่ไหน