แนะนำหนังสือ: วิถีแห่งการรู้แจ้ง

ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้จะเรียนเรื่องพระพุทธศาสนาในห้องเรียนและนอกห้องเรียนบ้างเล็กน้อย ผมกลับเข้าใจวิธีวิปัสสนาอยู่น้อยมากและส่วนที่เข้าใจก็ยังผิดเพี้ยนไปจากที่ทางที่จะดับความทุกข์อีก  ที่รู้ได้แบบนี้ ก็เพราะหลังอ่านหนังสือเล่มนึงเรื่อง “วิถีแห่งการรู้แจ้ง”

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมซึ่งยังมีประสบการณ์การเจริญสติน้อยมาก ได้เข้าใจถึงเป้าหมายในการปฏิบัติมากขึ้นมาก

วิธีการอธิบายที่ตรงประเด็นไม่อ้อมค้อมและแบ่งข้อมูลเป็นสัดส่วนและเป็นลำดับขั้นนั้น ผมคิดว่าน่าจะถูกจริตกับคนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ทักษะที่ได้จากการเจริญสตินั้น ผมคิดว่าเป็นทักษะอย่างนึงที่มีประโยชน์มาก เพราะมันน่าจะทำให้เราสามารถจัดการกับอารมณ์ที่ทำให้เป็นทุกข์ได้เป็นอย่างดี

อยากให้ลองอ่านดูกันครับ

การเจริญสตินั้น จริงอยู่ว่าเราไม่สามารถทำได้ด้วยการอ่าน/ฟัง/คิดได้  เพราะมันต้องรู้สึกถึงประกฏการณ์นั้นเอา  แต่เราย่อมไม่มีทางเริ่มเจริญสติได้เลยถ้าเรายังไม่เข้าใจภาพรวมของแนวทาง มิฉะนั้นถ้าเริ่มด้วยความไม่เข้าใจ ก็ยอ่มไปผิดทางซะเปล่าๆ

หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกับคนที่ได้เรียนพระพุทธศาสนาแค่ในห้องเรียนเหมือนผม 😛

พูดอะไรไม่รู้เรื่อง

ผมไม่เข้าใจมานานมากว่า ทำไมเราจะต้องสวดมนต์ด้วยภาษาที่เราฟังไม่เคยรู้เรื่อง
และถือเอาถ้อยคำที่เราฟังไม่รู้เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สลักสำคัญเอาการ ห้ามทำเป็นเล่นนะ เดี๋ยวโดนดี!

วันนี้ผมไปทำบุญที่ที่พักสงฆ์เนื่องด้วยครบวันตาย 100 วันของคุณตาครับ
อากาศและบรรยากาศที่นั้นเย็นสบายและร่มรื่นดีทำให้นึกถึงภาพวัดชลฯ ตอนสมัยได้ไปเป็น ลูกศิษย์เณรเอ็ก (พี่ของผมเอง)
บรรยากาศแบบนี้พอบวกกับได้เห็นพระแล้วทำให้รู้สึกอยากนั่งสมาธิดูสักตั้งครับ มันคงจะสงบและเย็นสบายดี
เป็นความรู้สึกดีๆ

แต่พอถึงเวลาพระสวดและให้เราสวดตามทีไร ผมจะรู้สึกเบื่อ และหงุดหงิดนิดๆ ทุกที ..ทำไมเราจะต้องพูดตามด้วยเนี่ย พูดอะไรก็ไม่รู้
ทุกคนในที่นั้นพูดตามกันหมด โดยที่ไม่รู้ว่ากำลังพูดอะไรอยู่กันอย่างพร้อมเพรียงโดยดุษฎี

ok ในกรณีงานครั้งนี้ อาจจะรู้ได้ว่าทั้งหมดที่ร่ายมาแปลได้ประมาณว่า ฉันเอาอาหารมาให้ฉันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ขอให้ฉันความสุขความเจริญนะ
แต่ยังมีโอกาสอื่นๆ อีกมากๆ ที่ผมเคยต้องพูดตามยาวเป็นบ้า โดยไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย
หรือแม้ไม่ต้องพูดเอง แต่เป็นไปฟังพระสวดอะไรมาก็ไม่รู้ ไม่จบสิ้น อย่างงานศพ ก็ทำให้ผมรู้สึกสุดหงุดหงิดและง่วงสุดยิด

ผมสงสัยว่ามันได้ประโยชน์อะไร ทำไมทางศาสนาไม่แปลออกมาให้มีความหมายเข้าใจได้ แบบนี้สิ่งที่คุณสวดให้ผมฟังหรือให้ผมสวดตาม มันจะได้กล่อมเกลาจิตใจยังไงกันนะ นอกจากสักแต่พูดตามกันไป (หรือให้รู้จักอดทนในการต้องพูดตามในอะไรก็ไม่รู้นานๆ ก็พอ)

เป็นการตัดโอกาส ..คำแปลของบทสวดนั้น ผมคิดว่าน่าจะมีความหมายที่ดี ซึ่งถ้าใครมีโอกาสได้สวดหรือได้ฟังก็คง ได้ซึมซับสารเหล่านั้นเข้าไป
บางครั้งความหงุดหงิดก็พาลให้ผมสงสัยต่อไปว่า แล้วตัวพระสงฆ์เองหล่ะ เข้าใจสิ่งที่กำลังสวดอยู่หรือเปล่านะ
ถ้าไม่ ..มันคงเป็นพิธีกรรมที่ตลกน่าดูนะครับ ต่างฝ่ายต่างไม่มีอะไรอยู่ในหัว แค่มาต้องทำตามประเพณี และบอกกับคนอื่นว่า ที่กำลังทำอยู่นี้มันสำคัญมากนะ ..กลายเป็นพิธีกรรมที่ไม่ได้มีความหมายใดๆ ในแง่จิตใจ เพียงแค่ทำไปเพราะเป็นสิ่งเดียวนอกจากในบัตรประชาชนที่บ่งบอกให้คนอื่นรู้ว่า ตัวเองคือชาวพุทธ

ที่เอามาเขียนลงตรง ณ ที่นี้ ประเด็นหลักไม่ใช่ด้วยความหงุดหงิดอันสะสม
หากเป็นเพราะว่า ผมอยากรู้ว่าคนทั้งประเทศของเราจะต้องทำแบบนี้ต่อไปอีกนานไหม และจะดีกว่าไหมถ้ามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
ถามตัวเราเองที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆมาตั้งแต่เด็ก และสวดมนต์มามากมายนักต่อนักกับชาวต่างชาติที่ไม่เคยประกอบพิธีกรรมใดๆ แต่ศึกษาและเข้าใจปรัชญาพุทธ …แบบไหน คือชาวพุทธกัน

ผมเชื่อว่าการที่เราให้ความศักดิ์สิทธิ์กับบทสวดไม่รู้ความหมายและปลูกฝังเช่นนี้มาตั้งแต่เด็กนั้น เป็นรากฐานของนิสัยคนไทย ที่ยอมเชื่อในสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ง่าย และงมงายในที่สุด

ปล. บรรยากาศสุดแออัดของการ”แย่งบุญ”กัน ในวัดดังๆ ระหว่างช่วงเทศกาล ก็เป็นเรื่องอีกที่น่าเศร้าสำหรับศาสนาพุทธในประเทศไทย ในความเห็นของผม