การสื่อสารและการกระจายอำนาจ, มองผ่านประวัติศาสตร์

ตัดสินใจอ่าน “ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า กับชะตากรรม ของสังคมมนุษย์” แค่บางบทที่อยากอ่าน(ทิ้งไว้นานมากเป็นปีๆ)  แต่กระนั้นก็ยังได้ประโยชน์มากมายทีเดียวโดยเฉพาะบทส่งท้าย ขอสรุปใจความสำคัญแบบด่วน ไม่พูดมากละกันนะครับ

หนังสือเล่มนี้พยายามศึกษาหา สาเหตุที่ทำให้มนุษย์ในแต่ละทวีปแต่และท้องที่ มีพัฒนาการของอารยธรรมที่แตกต่างกัน เช่น ทำไมชาวกรีกพัฒนาเร็วกว่าปิ๊กมี่หรือทำไมจีนที่พัฒนาก่อนหน้านั้นจึงชะลอลง คำถามที่น่าสนใจต่างๆ เต็มไปหมด   ที่สำคัญก็คือข้อเสนอต่างๆ พยายามศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ด้วยการตรวจทานทฤษฎีจากเหตุการณ์ทั่วโลกในเวลาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

จาเร็ต ไดมอนด์ ผู้เขียนเสนอว่าเหตุผลนั้นไม่เกี่ยวกับความแตกต่างของชาติพันธ์เลย(คือถ้าเอาคนยุโรปไปอยู่ออสเตรเลียตั้งแต่แรกสุดก็จะมีวิถีชีวิตแบบชาวอะบอริจิ้นที่เก็บของป่าล่าสัตว์) แต่ขึ้นกับ 4 เหตุผลหลักนี้

  • ท้องที่ที่มีชนิดของ สัตว์หรือพืชที่สามารถนำไปเก็บสะสมเป็นเสบียงส่วนเกินได้ จะพัฒนาก่อน  มิฉะนั้นก็ย่อมไม่สามารถสะสมอาหารต้องเก็บของป่าไปทุกวัน
  • ท้องที่ที่อยู่ในทวีปที่ แนวเทือกเขาสูงวางตัวแบบตะวันออกไปตก จะพัฒนาก่อนแนวเหนือไปใต้  เพราะภูเขาที่ขวางกั้นจะเป็นตัวกำหนดเส้นทางแนวการเดินทางและการเคลือนย้ายเทคโนโลยี  ถ้าภูเขาเป็นแนวเหนือใต้ การขนส่งเทคโนโลยีของ 2 ท้องที่จะมีลักษณะภูมิอากาศที่ต่างกัน(เขตโซนอากาศที่แบ่งตามละติจูดต่างกัน) จึงถ่ายทอดเทคโนโลยีไม่ได้เร็วเท่า แนวออกตกที่ทำให้การสื่อสาร “ภายใน” รวดเร็วกว่า (เช่น ยูเรเชีย)
  • ท้องที่มีแผ่นดินติดกับที่ๆ เจริญ จะทำให้สื่อสารไปถึง ท้องที่ “ภายนอก” ตัวเองได้เร็วกว่า
  • ท้องที่ที่ใหญ่และมีคนมากกว่า จะมีโอกาสเกิดนวัตกรรมขึ้นถี่กว่า และถ่ายทอดกันได้ scale ใหญ่กว่า

ลักษณะพัฒนาการนั้นเป็นลักษณะที่

  • คนเฉพาะกลุ่มบางกลุ่มนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เกิดความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีนี้บางอย่างมากๆ คนในกลุ่มจะหาทางออกได้เองเกิดเป็นนวัตกรรมในกลุ่ม เช่น เอสกิโมที่คิดอิกลู  หรือ กลุ่มคนที่เริ่มมีชนชั้นจึงจะภาษาเขียนก่อนใคร
  • แต่ละกลุ่มคิดได้น้อยอย่าง
  • พึ่งพาการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ทำให้กลุ่มที่สื่อสารกับกลุ่มอื่นมากจะพัฒนาเร็วมาก  ยิ่งโดดเดี่ยวยิ่งช้า
  • การถ่ายทอดเทคโนโลยี มี 2 ลักษณะ 1. อาศัยการไปพบเห็น ทำให้เกิดความรู้สึกว่า มีสิ่งนี้อยู่และสามารถทำได้ จึงนำกลับไปคิดขึ้นในรูปแบบของตัวเอง ได้โดยไม่ต้องอาศัยความพยายามทำกลุ่มที่คิดก่อน (เช่้น ภาษาเกาหลีที่เห็นภาษาจีน)  2. คัดลอกเทคโนโลยีมา   (รูปแบบแรกมักจะได้วิทยาการใหม่ๆอีก)

ที่เขียนข้างต้นเป็นเหตุผลที่ทำให้ดินแดนตรงเมโสกับจีนนั้นพัฒนาไปสุดยอดในยุคหนึ่ง แต่ต่อมากลับช้ากว่ายุโรป(ซึ่งก่อนหน้ากรีกโรมัน ไม่เคยพัฒนาถึงขึ้นคิดอะไรเองเลย รับความรู้คนอื่นตลอด) เพราะอะไร ?

  • ความเปราะบางทางสภาพแวดล้อมของดินแดนเมโส กว่าทั้งจีนและยุโรป  การเดิมที่มีป่าปุ่มชื่น การพัฒนาที่เร็วกินทรัพยากรไปมาก ทำให้สภาพแวดล้อมห่วยถึงขีดสุดกลายเป็นทะเลทราย(ที่อื่นก็ใช้ทรัพยากรแต่ไม่เปราะบาง เลยไม่เป้นอะไร ต้นไม้ขึ้นใหม่ทัน)
  • ความเป็นเอกภาพเกินไปของจีน  จากเดิมที่ยิ่งสื่อสารกันง่ายยิ่งดีกลายเป็นว่าหลังจีนเป็นเอกภาพ ทำให้ “การตัดสินใจรวมศูนย์” มีการตัดสินใจยุตินวัตกรรมต่างๆ ได้เด็ดขาดได้ง่าย  (เช่น การเดินเรือ[ก่อนหน้าเป็นกองเรือที่ก้าวหน้าที่สุด]  เครื่องปั่นฝ้ายพลังน้ำ[ที่อาจทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม]  นาฬิกาไขลาน)
  • ในขณะที่ยุโรปนั้นแตกกลุ่มประเทศไม่เคยน้อยกว่า 25 ประเทศ (เพราะพื้นที่ที่เป็นภูเขาเดินทางไม่สะดวกนัก ทำให้มีจัดตั้งกลุ่มปกครองตัวเองได้ง่าย) ทำให้โครงการต่างๆ ที่ถูกปฏิเสธจากใครคนหนึ่งสามารถไปเกิดขึ้นกับอีกกลุ่มได้ (เช่นโคลัมบัส ที่โครงการเดินเรือนี้ โดนปฏิเสธให้ทุนไป 2 ประเทศ ก่อนหน้าที่สเปนจะโอเคด้วย) และเมื่อกลุ่มอื่นเห็นกลุ่มไหนทำได้ดี ก็จะรีบตามทันที ทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นด้วยความถี่มากขึ้นเป็นเท่าๆ เกือบตามจำนวนกลุ่ม

จะเห็นได้ว่า การสือสารที่อำนาจถูกกระจายเนี่ย เป็นสิ่งที่สำคัญต่อความเร็วของการพัฒนามาก
จะเห็นได้ว่า อินเตอร์เน็ตมันคือสิ่งนั้นนี้หว่า!

ในความรู้สึกผมนั้น ผมรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ากลุ่มคนทีเล่นอินเตอร์เน็ต โดยคอยรับข้อมูลการพัฒนาใหม่ๆ มีการอภิปรายวิจารณ์ระบบต่างๆ เสนอความเห็นต่างๆ กำลังกลายเป็นกลุ่มคนที่พัฒนาความคิดตัวเองได้เร็วที่สุดในโลก

ปล. ที่จริงเรื่องในบทส่งท้าย ผู้เขียนได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการศึกษา ประวัติศาสตร์ในฐานะของ “ศาสตร์”(science) ไว้อย่างน่าสนใจมากๆ (ถ้ามีแรงจะมาเขียนครับ)

ปล2. มี blog ภาษาไทยเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ที่ ดี ดี มาฝากด้วยละกันครับ

5 thoughts on “การสื่อสารและการกระจายอำนาจ, มองผ่านประวัติศาสตร์

  1. mariaair says:

    หนังสือที่น่าอ่านอีกเล่มเลย
    เห็นว่าประวัติศาสตร์ก็ทำให้ปัจจุบันเอามาเป็นบทเรียนที่ดี

    โลกอินเตอร์เน็ตก็ทำให้คนพัฒนาขึ้นมากนะ
    แต่ก็ต้องระวังว่าจะพัฒนาไปเป็นด้านไหนกันแน่
    มันไม่จำกัดจริงๆ บางกลุ่มคนคิดที่ใช้ในอีกด้าน อีกกลุ่มก็อีกด้าน
    ทำให้โลกนี้ยังมีความแตกต่างกันได้เสมอ

    • อ่านแล้ว เหมือนแอร์จะสื่อว่าระวังความแตกต่าง
      แต่นั้นเป็นเรื่องที่โอเคนะเราว่า ความแตกต่างหน่ะ
      อย่างยุโรปไงที่อาศัยความต่างจนทำให้พัฒนาได้เร็วกว่าจีน

  2. Chayanin says:

    แนวคิดพวกนี้ เหมือนว่าเคยมีคนเอาไปพูดถึงในหนังสือเล่มนึง แต่จำไม่ได้แล้วว่า เคยอ่านมาจากไหน (ที่รู้คือไม่ใช่เล่มนี้)

    หรือว่าเป็นรีวิวหนังสือหว่า จำได้ว่าเรื่องแนวตะวันออก-ตะวันตก ดีกว่า เหนือ-ใต้ เนี่ยแหละ ที่ทำให้เอเชียกับยุโรปถ่ายทอดอารยธรรมได้ดีกว่า แอฟริกา

    ต้องไปหามาอ่านแล้ว

  3. niamo says:

    นายแปลกดีนะ

    ปกติเราจะแยกแยะสิ่งที่ได้รับรู้มาออกเป็นส่วนๆ แยกเรื่องกัน ไม่เคยเอามาปนเปกัน (เพราะกรอบความคิดบางอย่าง) เราอ่านประวัติ ได้แง่คิดมา ก็จัดระะบบในสมองว่าเป็นแง่คิดทางประวัติศาสตร์ ได้เรียนรู้ว่า มนุษย์พัฒนาอารยธรรมภายใต้สิ่งแวดล้อม โดยมีปัจจัยเกื้อหนุน และบ่อนทำลายใดๆบ้าง

    จบ!!

    แต่นาย อ่านเสร็จ ได้แง่คิดที่ไม่เหมือนคนอื่น แล้วแง่คิดนั้น ทะลุกรอบความรู้ประวัติศาสตร์ เอามาใช้อธิบายความสำคัญบางอย่างในยุคปัจจุบันได้

    นายเจ๋งดี (เราไม่รู้ว่านายกรุ๊ปเลือดอะไร แต่นายช่างเหมือกนับคนกรุ๊ปเลือด AB จัง)

Leave a comment